ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก...”

ในสมัยอดีต หลังออกพรรษา ถึงเวลาที่พระภิกษุจะเทียวจาริกไปในที่ต่างๆ เพื่อหาสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม รวมทั้งเผยแผ่ ธรรม ซึ่งเรามักจะได้ยินว่า “ออกธุดงค์” เป็นการไปฝึกหัดขัดเกลานิสัยไม่ดีให้ดีขึ้น เช่น จะได้ฝึกเป็นผู้มักน้อย สันโดษ อีกทั้งจะได้โอกาสเทศน์โปรดญาติโยมตามชุมชนต่างๆอีกด้วย

ธุดงค์มี 13 ข้อ เลือกถือปฏิบัติได้ตามอัธยาศัย

ในคัมภีร์ได้กล่าวถึงธุดงควัตรเอาไว้ว่า ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าหรือออกเดินทางก็ได้ ลำพังการเดินธุดงค์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธุดงควัตรให้ลุล่วงไปได้ พระบางรูปอยู่แต่ในวัดก็สามารถถือธุดงค์ได้หลายข้อ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะปฏิบัติ ข้อใดบ้าง ธุดงควัตรมี 13 ข้อ ดังนี้

  1. การถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
  2. การถือผ้า 3 ผืน เป็นวัตร
  3. ถือการบิณฑบาต เป็นวัตร
  4. ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้าน เป็นวัตร
  5. ถือการฉันในอาสนะเดียว เป็นวัตร
  6. ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร
  7. ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลัง เป็นวัตร
  8. ถือการอยู่ป่า เป็นวัตร
  9. ถือการอยู่โคนไม้ เป็นวัตร
  10. ถือการอยู่กลางแจ้ง เป็นวัตร
  11. ถือการอยูในป่าช้า เป็นวัตร
  12. ถือการอยูในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้ เป็นวัตร
  13. ถือการนั่ง เป็นวัตร

สำหรับคณะพระธุดงค์ธรรมชัยนั้น เมื่อไปพำนักที่ไหน จะถือธุดงควัตร 2 ข้อ หลักๆ คือ

  • ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะฉันเพียงครั้งเดียว ฉันเข้า เสร็จก็จะออกเดินธุดงค์ทั้งวัน มีเพียงพักฉัน น้ำปานะหรือดื่มน้ำเท่านั้น แต่บางรูปก็ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร
  • ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เจ้าหน้าที่จัดให้ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย ถูกใจ หรือไม่

เดินธุดงค์ในเมือง และธุดงค์ในป่า

การออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนา ไพร ถือเป็นการแสวงหาทางขจัดกิเลสให้กับตัวพระธุดงค์เองเป็นหลัก นับเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก ส่วนการเดินธุดงค์ ในเมืองก็ใช่ว่าจะผิดธรรมเนียมหรือหลักปฏิบัติธุดงค์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านเหล่านี้ได้ศึกษาและรักษาธุดงควัตรมาเป็นอย่างดี เช่น บางรูปถือเนสัชชิกังคะ ไม่นอนในวันพระเป็นวัตร แต่จะนั่งสมาธิทั้งคืนยันสว่าง, ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ การที่ท่านมาพร้อมกันจากทั่วประเทศ มีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียวกันชัดเจน คือ

  1. ต้องการเดินธุดงค์ตามเส้นทางที่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านกำเนิด, บรรลุธรรม, เผยแผ่ธรรมครั้งแรก และละ สังขาร เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า จะดำเนินตามปฏิปทาของท่านในการสร้างบารมี
  2. เพื่อยกใจชาวโลกให้สูงขึ้น ให้โยมได้โอกาสสั่งสมบุญจะได้มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป

ผลดีจากการเดินธุดงค์ในเมือง

การเดินธุดงค์เป็นหมู่คณะใหญ่ ถือ เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เป็นบุญตาของชาวโลกที่จะได้ทัศนาพระผู้เป็นอายุพระศาสนา เนื่องจากท่านฝึกตัวมาดีแล้ว ท่านไม่ได้มาเดินเล่นหรือเดินโชว์ แต่เดินตามรอยบาท พระศาสดา และก่อนหน้านี้คณะพระธุดงค์ก็ได้เดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรโปรดญาติโยมตามหมู่บ้านต่างๆมาแล้ว บัดนี้ พุทธบุตรเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะมาเดินเพื่อเป็นเนื้อนาบุญในเมืองหลวง

สาธุชนที่ไปต้อนรับจะสังเกตเห็นอากัปกิริยาของพระธุดงค์ว่า เดินอย่าง สงบเสงี่ยม สง่างาม น่าเลื่อมใส สายตา ทอดลงต่ำ มีความสำรวมอินทรีย์ยิ่งนัก ดังนั้น ทุกย่างก้าวของคณะพระธุดงค์ จะเป็นย่างแก้ว... ตามองทาง ใจมองกลาง หยาดเหงื่อที่หลั่งจะกลั่นเป็นเหงื่อแก้ว แค่โยมได้พบเห็นก็เป็นบุญตา ยิ่งได้โอกาสมาต้อนรับด้วยการโปรยดอกดาวเรือง มาเช็ดเท้า ถวายน้ำปานะ นับเป็นโชคลาภวาสนาของโยมแล้ว ครั้งหนึ่งที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ใช่ว่าจะพบเห็นภาพอันเป็นมงคลอย่างนี้บ่อยนัก บางคนไม่มีโอกาสได้พบเห็นเลย การเดินธุดงค์ของท่านก็เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียว เพื่อยังใจชาวโลกให้สูงขึ้น เป็นการฟื้นฟูธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา เมื่อพระภิกษุรับกฐินแล้วจะออกเดินธุดงค์ ทำให้เกิดทัสนานุตริยะ คือ การเห็นอันประเสริฐแก่ผู้พบเห็นทั่วไป นี่คือสัญลักษณ์ว่า ประเทศไทยของเรา จะร่มเย็นเป็นสุข และประเทศไทย คือ ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2555

คอลัมน์ ตามตะวัน โดย พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.9 วัดพระธรรมกาย

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล