ธุดงค์ธรรมชัย สถาปนา เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
เพื่อฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน วันที่ 2-25 มกราคม 2555
ธุดงค์แปลว่า เครื่องกำจัดกิเลส
การประพฤติธุดงค์เป็นวิธีที่สามารถกำจัดกิเลสได้แบบเฉียบพลันทันตาเห็น และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษรวมทั้งยังมีอานิสงส์ให้บารมี ๑๐ ทัศ เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้น
ธุดงค์เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล การประพฤติธุดงค์จึงเป็นการดำเนินตามรอยพระอรหันต์และพระอริยเจ้าในกาลก่อน
สำหรับธุดงค์ธรรมชัยสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้ จัดขึ้นโดยดำริของ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ร่วมกับ ๒๕ องค์กรภาคี และ ๖ จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ
- เพื่อสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
- เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม
- เพื่อสร้างบุญใหญ่และสิริมงคลให้แผ่นดินไทย
- เพื่อสืบสานธุดงค์วัตร ของพระภิกษุ
- เพื่อให้พระภิกษุฝึกสติ สมาธิ และความอดทน
- เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน
- เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
- เพื่อฟื้นฟูธรรมเนียมการเดินธุดงค์หลังรับกฐินของพระภิกษุให้กลับคืนมา
ธุดงค์ธรรมชัยสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ มีการบุกเบิกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีพระธุดงค์กว่า 200 รูป เดินธุดงค์เป็นระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร เส้นทางธุดงค์เริ่มจากวัดพระธรรมกายมีปลายทางอยู่ที่ มหาวิทยาลัยปทุมธานี ตลอดระยะทางมีประชาชนและเด็กนักเรียนกว่า 10,000 คน เตรียมกลีบกุหลาบที่เด็ดจากดอกกุหลาบกว่า 700,000 ดอกโปรยต้อนรับตลอดเส้นทางเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย
คำว่า มหาปูชนียาจารย์” ที่กล่าวถึงข้างต้นหมายถึง พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม และ คุณวิเศษ ที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหมั่นฝึกฝนตนเองจนกระทั่งสามารถพิสูจน์ให้ชาวโลกได้รู้เห็นว่าพระพุทธศาสนาคือที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดจริงๆ
ส่วน “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์” หมายถึงเส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ในประวัติศาสตร์ ชีวิตของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อันได้แก่
๑ สถานที่เกิด ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการก่อสร้างอนุสรณ์สถานพระมงคลเทพมุนีไว้ ณ ที่แห่งนี้
๒ สถานที่ออกบวช วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
๓ สถานที่บรรลุธรรม วัดโบสถ์(บน) บางคูเวียงตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
๔ สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
๕ สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกาย วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
๖ สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เพื่อสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก) วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
สถานที่สำคัญแต่ละแห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์จะเป็นที่รวบรวมบันทึกประวัติการสร้างบารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย จนถึงปัจฉิมวัยและเป็นสถานที่ประดิษฐานหล่อทองคำแท้ ของท่าน ซึ่งศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันหล่อขึ้น เพื่อแสดงถึง ความเคารพรักและความกตัญญูต่อพระคุณ อันไม่มีประมาณของท่าน
การสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ จะทำให้อนุชนรุ่นหลังมีโอกาสศึกษาชีวประวัติอันงดงาม และ คำสอนอันล้ำค่าของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้โดยสะดวก เมื่อเห็นภาพการดำเนินชีวิตของท่าน และ ได้เรียนรู้คำสอนของท่านแล้ว จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา สืบไป ดังนั้นการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด
ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ นำโดยพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงจัดให้มีการเดินธุดงค์ธรรมชัยของพระธุดงค์จำนวน 1127 รูป อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 24 วัน การเดินธุดงค์ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์แล้ว ยังจะช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย จากมหาอุทกภัยปี 2554 ที่สร้างความสูญเสียและความพลัดพรากแก่พี่น้องชาวไทยให้หมดสิ้นไป และยังเป็นการสร้างสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่ผืนแผ่นดินไทยอีกด้วย
การขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลายด้วยอำนาจของพระรัตนตรัยนั้น ในสมัยพุทธกาลก็เคยปรากฏขึ้นเช่นกัน ดังเช่น เมื่อครั้งที่กรุงไพศาลีประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและล้มตายเป็นจำนวนมากครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาให้เสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี ขณะเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ พร้อมเหล่าภิกษุ 500 รูป พระเจ้าพิมพิสารได้เตรียมหนทางเสด็จของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประดับธงชัย โปรยด้วยดอกไม้ 5 สี กั้นฉัตร ๒ ชั้น บูชาด้วยดอกไม้ของหอมเป็นระยะทางประมาณ ๕ โยชน์ แม้ชาวเมืองก็ยังร่วมมือกันทำความสะอาดถนนหนทาง พร้อมทั้งประดับประดาด้วยพวงดอกไม้อันประณีตงดงามเพื่อส่งเสด็จ
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงไพศาลี ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย ภัยพิบัติทั้งมวลก็มลายหายสูญสิริมงคลทั้งหลายบังเกิดขึ้นกับชาวเมืองไพศาลีโดยทั่วหน้ากัน
ในระหว่างวันที่ ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕ ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมกันสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ด้วยการจัดเตรียมกลีบกุหลาบหลากสีสัน นำไปโปรยปูลาดตลอดเส้นทาง 365 กิโลเมตร ที่พระธุดงค์จำนวน 1127 รูป จะเดินจาริกตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่
การโปรยดอกไม้ปูลาดทางเดินของพระธุดงค์ จะทำให้ทุกท่านมีส่วนในบุญของพระธุดงค์ทุกรูป ซึ่งนอกจากจะเป็นการเติมบุญใหญ่ให้แก่ตนเองตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่แล้วยังเป็นการทำบุญให้กับประเทศของเราที่ผ่านความบอบช้ำอย่างหนักในช่วงปี ๒๕๕๔ ด้วย