เรื่องกฎแห่งกรรมเป็นเรื่องที่ใครจะหลีกหนีไม่พ้นเลย ทุกคนในโลก ทุกระดับชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พุทธบริษัท ๔ ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น การกระทำ
ทุกการกระทำอะไรก็ตามทั้งที่ลับที่แจ้ง จะมีใครเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม แต่กฎแห่งกรรมเขาเห็นและบันทึกติดเอาไว้
พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง พุทธบริษัท ๔ ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะต้องศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมให้ดี แล้วก็ต้องเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะกฎแห่ง
กรรมมีมายาวนาน เริ่มต้นเมื่อไรไม่มีใครรู้ แม้แต่พุทธญาณ หรือญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาต่อ ๆ กัน นับพระองค์ไม่ถ้วน ยังหาเบื้องต้นว่าจะสิ้นสุดตรงไหนก็ยัง
ไม่มีใครทราบ เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่ได้เป็นผู้บัญญัติกฎแห่งกรรม ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ไม่มีเว้นกฎแห่งกรรม
เลยสักราย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาทีเดียว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไปเห็นด้วยพุทธญาณอันบริสุทธิ์ ด้วยบุพเพนิวาสานุสสติญาณ กับจุตูปปาตญาณ เวลาท่านนำชาดกหรือเรื่องราวต่าง ๆ มาสอนพระภิกษุ สามเณร
หรือภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านก็ต้องระลึกชาติไปดู แล้วนำมาสอน พระองค์ไปเห็นมาแล้วก็สงสารสัตว์โลก จึงนำมาสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่อง
สำคัญ ต้องศึกษากันเอาไว้ให้ดีทีเดียว ถ้าไม่ศึกษา...อันตราย
ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ ได้ศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมและมีความเชื่อมั่น พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรือง ชาวโลกก็จะได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่จากคำสอนของพระบรมศาสดา
และจะดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีความสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ท่องเที่ยวอยู่ใน ๒ ภพภูมิ คือ ในมนุษย์โลกกับเทวโลก ไม่ต้องแวะเวียนไปในอบายเลย เพราะฉะนั้น พระเณร
ควรจะศึกษาเรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรมว่า เป็นของมีจริง เป็นเรื่องสำคัญ ศึกษาแล้วก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ เกิดความละอายต่อบาปและความกลัวต่อผลของบาป คือละอายที่จะทำบาป
ว่า คนอย่างเราเป็นนักบวชแล้ว ถ้าไปทำบาปทั้งที่ลับที่แจ้ง มันเสียศักดิ์ศรี ทำไม่ได้ เกิดความละอายที่จะทำ และก็กลัวด้วย หรือพอรู้สึกกล้า ไม่ค่อยจะอายแล้ว ก็ต้องกลัวต่อผล
ของบาปที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน คือความเร่าร้อนใจ ทุกข์ใจ เพราะเก็บเรื่องนั้นเอาไว้คนเดียว กับผลของบาปในปรโลกอีกยาวนาน
ถ้ากลัวแล้ว ก็ไม่ทำบาป เมื่อไม่ทำบาป ก็อยากประพฤติถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าถูกต้องตามธรรมวินัย ก็เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมหาชน ของอุบาสก อุบาสิกา ของชาว
โลกทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็จะเลื่อมใส ที่เลื่อมใสแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น ถ้าหากอุบาสก อุบาสิกา ศึกษาด้วยก็ยิ่งละอายต่อบาป และกลัวต่อบาป เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมา ก็จะละชั่ว
ทำดี และทำใจให้ผ่องใส
พระก็จะทำหน้าที่ของพระและเป้าหมายของพระให้สมบูรณ์ เป้าหมาย คือ ทำพระนิพพานให้แจ้ง หน้าที่ก็คือ ศึกษาฝึกฝนแล้วก็อบรมสั่งสอนผู้อื่น เป็นทั้งต้นบุญต้นแบบ ครู
สอนศีลธรรม นี่ต้องเกื้อกูลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องกฎแห่งกรรมต้องเรียนให้ลึกซึ้ง ถ้าหากว่านักบวชไม่เชื่อเรื่องนี้ แล้วคฤหัสถ์จะเชื่อได้อย่างไร และเมื่อต่างคนต่างไม่เชื่อ ความ
เดือดร้อนก็จะเกิดขึ้น โยมก็ไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะพึ่งใคร ก็ต้องไปพึ่งผี พึ่งเจ้า พึ่งต้นไม้ พึ่งจอมปลวก พึ่งจิ้งจก ๒ หาง ปู่ปลาไหล ปู่เต่า เต่ามาก็กราบเต่า กราบปลาไหล กราบจิ้งจก
๒ หาง งู ๒ หัว วัว ๕ ขา อะไรอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้วัดร้างก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คฤหัสถ์ก็ขาดแหล่งแห่งเนื้อนาบุญ น่าเสียดายความตั้งใจเดิมของบรรพบุรุษที่มีความปรารถนาดีต่อลูก
หลาน ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดกันมา ตั้งใจจะให้เป็นอารามที่อยู่อาศัยของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอายุพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งสอนศีลธรรม และก็แหล่งเนื้อ
นาบุญให้เขาได้ตักตวงบุญวิธีแก้วัดร้างก็มีวิธีการตั้งมากมาย อย่างผู้ที่ปลดเกษียณแล้วก็ไปบวช และยิ่งผู้ที่เคยรับผิดชอบงานพระพุทธศาสนา แจ่มแจ้งเรื่องพระ เรื่องเจ้า เรื่องวัด
เรื่องพระพุทธศาสนา มีความชำนาญ พอเกษียณแล้วก็ไปเป็นสมภารที่วัดร้างได้เลย
สมัยก่อนเวลาเขารบทัพจับศึก พอกลับมาแล้ว นักรบต้องออกบวช เพื่อทำใจให้เป็นบุญแล้วก็อุทิศบุญกุศลไปให้คู่ต่อสู้ ซึ่งไม่เคยโกรธเคืองกันเลย แต่ว่าอยู่ ๆ ก็ต้องมาฆ่าฟัน
กัน บางท่านบวชตั้งหลายครั้ง ซึ่งไม่เป็นข้อห้ามอะไร จะบวชกี่ครั้งก็ได้ นี่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาวัดร้างอีกทางหนึ่ง หรือเวลาปิดภาคเรียน นักเรียน นิสิต นักศึกษา จัดบวชภาคฤดูร้อน
หมุนเวียนกันไป แทนที่จะอยู่วัดที่ตัวบวช ก็ไปอยู่ที่วัดร้าง ทำความสะอาด ปัดกวาดเสนาสนะ ส่วนเสนาสนะก็สร้างอย่างเรียบง่าย และก็สวดมนต์ไหว้พระ เจริญภาวนา ศึกษาธรรมะ
กันไป เดี๋ยววัดร้างก็จะเป็นวัดรุ่ง ก็จะเป็นแหล่งเนื้อนาบุญขึ้นมาอีกแห่ง แสงสว่างของศีลธรรมก็จะเกิดขึ้น นี่ไม่ได้ยากเลย
บวชเป็นพระ...มีความสุข แต่ว่าต้องเข้าใจงานของพระ คือ พระต้องเข้าใจงานของพระ โยมก็ต้องเข้าใจงานของพระด้วย พระแต่เดิมก็เป็นคฤหัสถ์ มีชีวิตเหมือนชาวโลก ต้อง
ทำมาหากินเหมือนนกเหมือนกาอย่างนั้น แต่เห็นภัยในวัฏสงสารก็ออกบวช บวชแล้วก็ต้องทำแบบพระ คือ เว้นกิจแบบฆราวาส จะให้มาทำแบบฆราวาสไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระ
วันเสาร์ที่ ๑๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
จากหนังสือชีวิตสมณะ.....จัดพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๔๖