การบรรลุมรรคผลนิพพาน : สามัญญผลลำดับที่ ๘
เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถประคองจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นต่อไปอีก จิตย่อมบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและอุปกิเลสโดยสิ้นเชิง จิตจึงผ่องแผ้วสว่างไสวถึงที่สุด ยังผลให้บรรลุญาณอันหยั่งรู้อริยสัจ ๔ รู้ว่าจิตของตนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงแล้ว นั่นคือบรรลุอรหัตตผล ซึ่งเป็นสามัญญผลขั้นสูงสุด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาติศัตรูดังนี้
“ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวลควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ คามินีปฏิปทา (ทางดับทุกข์) ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ (กิเลสเครื่องหมักดองใจ) นี้อาสวสมุทัย (เหตุแห่งกิเลสนั้น) นี้อาสวนิโรธ (ความดับกิเลสนั้น) นี้อาสวนิโรธ คามินีปฏิปทา (ทางดับกิเลสนั้น) เมื่อเธอรู้เธอเห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ (อาสวะคือกาม) แม้จากภวาสวะ (อาสวะคืออวิชชา) เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
มหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใส สะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระ จึงพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้นดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ “อาสวักขยญาณ” ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่นๆ ที่ดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ย่อมไม่มี”๑ ญาณอันหยั่งรู้อริยสัจ ๔ ชัดเจนแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง อันทำให้อาสวะกิเลสหมดสิ้นไปจากใจนี้ มีชื่อทางศาสนาว่า “อาสวักขยญาณ”
สามัญญผลเบื้องสูง หรืออานิสงค์แห่งการเจริญภาวนาซึ่งก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ลำดับที่ ๑ จนถึงลำดับที่ ๘ นี้มีชื่อเรียกว่า “วิชชา ๘” โดยเรียงลำดับดังนี้ คือ
๑. วิปัสสนาญาณ
๒. มโนมยิทธิ
๓. อิทธิวิธี
๔. ทิพพโสต หรือ หูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
๗. ทิพพจักขุ หรือตาทิพย์ หรือ จุตูปปาตญาณ
๘. อาสวักขยญาณ
จากพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับวิชชา ๘ นี้ จะเห็นว่าหลักสำคัญในการปฏิบัติเพื่อบรรลุญาณระดับต่างๆ ก็คือ “จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่ไหวั่นไหว” ได้กล่าวไว้ในตอนต้นบทนี้แล้วว่า การอบรมใจให้เป็นสมาธิแน่วแน่นั้น จะต้องวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจ ดังนั้น “ จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว” จึงหมายถึงการตั้งจิตมั่นไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถตั้งจิตมั่นไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างแท้จริง จนสามารถบรรลุ “วิปัสสนาญาณ” ได้แล้ว หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “บรรลุธรรมกายโคตรภู” ซึ่งจะเป็นบาทฐานไปสู่ธรรมกายพระอริยบุคคลระดับต้น ครั้นเมื่อสมาธิก้าวหน้ามากขึ้น บรรลุญาณสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระสกทาคามี ธรรมกายพระอนาคามี ย่อมหมายถึงได้บรรลุธรรมกายสูงขึ้นตามลำดับจนถึงธรรมกายพระอรหัต ซึ่งเป็นภาวะที่บรรลุอาสวักขยญาณหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง
อนึ่ง การที่ผู้เจริญภาวนาซึ่งบรรลุญาณระดับต่างๆ สามารถรู้เห็นการตายและการเกิดของหมู่สัตว์ รู้เห็นความแตกต่างของหมู่สัตว์อันมีกรรมเป็นเหตุ ตลอดจนมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือระลึกชาติได้ เหล่านี้ล้วนรู้ด้วยญาณของธรรมกาย และเห็นด้วยตาของธรรมกายทั้งสิ้น จะรู้ด้วยความรู้กายมนุษย์หรือเห็นด้วยตาของกานมนุษย์ก็หาไม่ ดังนั้นจึงกล่าวในเชิงปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า “บรรลุญาณก็คือบรรลุธรรมกายนั่นเอง”
------------------------------------------------------------------------------------------------
๑ สามัญญผลสูตร ที.สี ๙/๑๓๘/๑๑๐