ฌาน ๔
ฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบประณีต เป็นสมาธิแน่วแน่ เหนือกว่าสมาธิธรรมดา เมื่อพระภิกษุกระทำจิตให้สงบสงัด เป็นสมาธิละเอียดอ่อน ก็จะเข้าฌารระดับต่าง ๆ ไปตามลำดับ ๆ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า
“ เมื่อเธอ (ภิกษุผู้ปฏิบัติภาวนา) พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ละได้แล้วในตนย่อมเกิด ปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่นเธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ “ปฐมฌาน” มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนใดๆแห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง...มหาบพิตร นี้แหละ สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่าทั้งประณีตกว่าสามัญญผล ที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ....
มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุ “ทุติยฌาน” มีความผ่องใสแห่งใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนใด ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง... มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไปบรรลุ “ตติยฌาน” ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีส่วนใด ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง... มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุ “จตุตถฌาน” ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีส่วนใด ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง... มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตยิ่งกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ” ๑
จากพระธรรมเทศนาเรื่องฌานทั้ง ๔ ระดับนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุ “ปฐมฌาน” ได้ เพราะละนิวรณ์ ๕ ประการได้ กายจึงสงบ มีจิตตั้งมั้นเป็นสมาธิ สงัดจากกามและอกุศลธรรม ตั้งอยู่ด้วยองค์ ๕ คือวิตก (ความตรึกหรือคิด) วิจาร (ความตรองหรือพิจารณา) ปีติ (ความอิ่มใจ) สุข (ความสบายใจ) และ เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นสมาธิ)
เมื่อผู้ปฏิบัติมีใจตั้งมั่นอยู่ด้วยองค์ ๕ เช่นนั้นนานเข้า จนใจผ่องใสยิ่งขึ้น ทำให้วิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุ “ทุติยฌาน” ตั้งมั่นอยู่ด้วยองค์ ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา
เมื่อผู้ปฏิบัติยังคงมีใจตั้งมั่นยิ่งขึ้นไปอีก ปีติก็จะสิ้นไปจึงบรรลุ “ตติยฌาน” ตั้งอยู่ด้วยองค์ ๒ คือ สุขและเอกัคคตา ถ้าผู้ปฏิบัติมีใจยังคงตั้งมั่นอยู่ด้วยองค์ ๒ เช่นนั้นอย่างแน่วแน่ ไม่มีเสื่อมคลาย ย่อมบรรลุ “จตุตถฌาน” ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่อุเบกขา (ความวางเฉย) และเอกัคคตา
ตาราง แสดงอารมณ์ในฌานระดับต่างๆ (๒)
อารมณ์ ฌาน | วิตก | วิจาร | ปีติ | สุข | อุเบกขา | เอกัคคตา |
ปฐมฌาน | O | O | O | O | - | O |
ทุติยฌาน | - | - | O | O | - | O |
ตติยฌาน | - | - | - | O | - | O |
จตุตถฌาน | - | - | - | - | O | O |
O = อารมณ์ที่เกิดขึ้นในองค์ฌาน
-----------------------------------------------
๑ สามัญญผลสูตร ที. สี. ๙/๑๒๗-๑๓๐/๙๘-๑๐๐
๒ อารมณ์เหล่านี้เป็นองค์ฌานที่ใช้แยกแยะระดับของฌานต่าง ๆ แต่มิได้หมายความว่าในฌานต่าง ๆ จะมีเฉพาะอารมณ์เหล่านี้เท่านั้น เพราะในฌานทุกระดับยังมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ ด้วย (ม. อุ. ๑๔/๑๕๕-๑๕๘/๑๑๖-๑๑๙) สำหรับอุเบกขา แม้จะมีอยู่ในฌานทุกระดับ แต่เด่นชัดที่สุดในจตุตถฌาน จึงจัดเป็นองค์ฌานของจตุตถฌานเท่านั้น