• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

 ๔. คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

580525_02.JPG - 68.78 kb

คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายมีคำศัพท์เฉพาะว่า “อินทรียสังวรศีล” มีคำศัพท์ที่ควรแยกพิจารณาได้ ๓ คำ คือ

คำที่ ๑ “อินทรีย์” มีความหมายหลายอย่าง แต่ในศีลข้อนี้มุ่งถึงอินทรีย์ หรืออายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย    ใจ

คำที่ ๒ “สังวร” หมายถึง สำรวมระวัง

คำที่ ๓ “ศีล” หมายถึง ภาวะปรกติ

ดังนั้น “อินทรียสังวรศีล” จึงหมายถึง “ภาวะปรกติในการสำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖”

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

      “มหาบพิตร อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ (สำรวมตา) ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำ... ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต...ดมกลิ่นด้วยฆานะ... ลิ้มรสด้วยชิวหา... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิตไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก  คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน มหาบพิตร ภิกษุ ถือว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายด้วยประการดังกล่าวมานี้แล”๑

 

จากพระดำรัสที่ยกมานี้ มีคำศัพท์ที่พึงทำความเข้าใจอยู่หลายคำ คือ

      “ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย” หมายถึง “อายตนะภายใน ๖” เหตุที่ใช้คำว่า “ทวาร” ซึ่ง แปลว่า ประตู ก็เพราะอายตนะภายในทั้ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นทางเปิดรับอายตนะภายนอกทั้ง คือ รูป เสียง กลิ่น รู้สึกสัมผัส และธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ) อายตนะภายในจึงเป็นเสมือน“ประตู” ที่เปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามาในบ้าน ส่วนอายตนะภายนอกทั้ง ๖ นั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อารมณ์ ๖”

 

      “เห็นรูปด้วยจักษุ” โบราณาจารย์ทั้งหลายอธิบายว่าลำพังจักษุหรือตาเห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีใจ ลำพังใจก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีประสาทตา แต่ขบวนการของการเห็นจะต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ตา รูป และใจ กล่าวคือ จักษุ (ทวาร) กับรูป (อารมณ์) กระทบกัน บุคคลย่อมเห็นรูปนั้นได้ด้วยใจเมื่อใจรับรู้อารมณ์ทางตาแล้ว ย่อมทำให้เกิดการเห็นขึ้น นี้คือความหมายของ “เห็นรูปด้วยจักษุ” บางแห่งท่านใช้ “เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ”  “วิญญาณ” ในที่นี้หมายถึง การรับรู้ด้วยใจในขณะที่อายตนะภายในและภายนอกกระทบกัน

 

      ดังนั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เห็นรูปด้วยจักษุ” ย่อมหมายถึง “เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ”  ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระองค์ตรัสว่า

 “ฟังเสียงด้วยโสต” ย่อมหมายถึง “ฟังเสียงด้วยโสตวิญญาณ”  

“ดมกลิ่นด้วยฆานะ” ย่อมหมายถึง “ดมกลิ่นด้วยฆานวิญญาณ”

“ลิ้มรสด้วยชิวหา” ย่อมหมายถึง “ลิ้มรสด้วยชิวหาวิญญาณ”

“ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย” ย่อมหมายถึง “ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายวิญญาณ”

“รู้แจ้งธรรมารมณด้วยใจ” ย่อมหมายถึง “รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยมโนวิญญาณ” นั่นเอง

ส่วนคำว่า “ไม่ถือนิมิต” คือ ไม่ถือเครื่องหมาย ซึ่งมีอยู่ในอายตนะภายนอก เช่น ไม่สนใจว่าเป็นหญิง

หรือชาย หรือไม่ใส่ใจเครื่องหมายอันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลส เช่นไม่สนใจว่างามเป็นต้น ดังนั้นการไม่ถือ

นิมิตก็คือ การยั้งหยุดอยู่ในอาการสักแต่ว่าเห็นเท่านั้น ไม่เก็บไปคิดนึกปรุงแต่งต่อไปอีก

 

       “ไม่ถืออนุพยัญชนะ” คือ ไม่ถือลักษณะเล็กๆน้อยๆ อันเป็นเครื่องประกอบของอายตนะภายนอก เช่น ลักษณะของมือ เท้า หน้าตา การพูด การหัวเราะ การฉอเลาะ หรืออากัปกิริยาอื่น ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดกิเลส  โดยสรุปก็คือ เมื่อได้เห็นองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอายตนะภายนอก ก็ยั้งหยุดอยู่สักแต่ว่าเห็น ไม่เก็บไปคิดนึกปรุงแต่งวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปอีก เพราะจะทำให้กิเลสกามเฟื่องฟูขึ้นในใจ

 

      “สำรวมจักขุนทรีย์” โดยรูปศัพท์ แปลว่า “สำรวมตา” แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องปิดตาเพื่อไม่ดูอะไร เพราะเป็นดังที่เป็นไปไม่ได้ แต่ขณะใดที่ลืมตาย่อมมีสิ่งมากระทบตาเรามากมาย ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ใช้สติเป็นเครื่องปิดตา ใช้สติเป็นเครื่องสำรวม ใช้สติเป็นเครื่องคุ้มครองความคิด ในขณะที่เราเห็นหรือดูสิ่งต่าง ๆ โดยเว้นขาดจากการถือนิมิตและอนุพยัญชนะ ดังที่ตรัสว่า

            “...ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะเธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์...”

 

      สำหรับการสำรวมอินทรีย์อื่นอีก ๕ อย่างก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ค่อยใช้สติเป็นเครื่องคุ้มครอง ด้วยเหตุโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า “อินทรียสังวรศีล พึงสำเร็จได้ด้วยสติ”๒  

คำว่า “อกุศลธรรมอันลามก” ได้แก่ “อภิชณาและโทมนัส”

“อภิชฌา” ตามรูปศัพท์แปลว่า โลภอยากได้ของเขาความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น

“โทมนัส” ตามรูปศัพท์แปลว่า ความเสียใจ ความทุกข์ใจ

 

      ดังนั้น “อภิชฌาและโทมนัส” จึงจัดว่า เป็นอกุศลธรรมอันลามก เพราะความโลภอยากได้ของของคนอันนั้นย่อมนำไปสู่การประพฤติทุศีล ทำให้ประกอบอาชีพไม่บริสุทธิ์ ถ้าได้ของมาดังใจหมาย ของนั้นไม่บริสุทธิ์ แม้จะรู้สึกเป็นสุข ก็เป็นความสุขหลอก ๆ เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่จะมีวิบากกรรมติดตามไปอีกยาวนาน หรือหากไม่ได้ของนั้นมาก็รู้สึกผิดหวัง เกิดโทมนัส ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

 “...ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำ…”

 

      คำว่า “รักษามนินทรีย์” หรือ “สำรวมมนินทรีย์” หมายถึงการรักษาใจให้พ้นจากการถูกครอบงำโดยอภิชฌาและโทมนัส   จะเห็นว่า การสำรวมระวังอินทรีย์ทั้งหลายมีจักษุเป็นต้นแท้ที่จริงแล้ว ก็เพื่อรักษามนินทรีย์ คือ ใจ ให้ปลอดจากทุกข์ปลอดจากกิเลสภายใน เพื่อเสวยสุขในเรื่องปลายนั่นเอง

 

      เมื่อทำความเข้าใจกับคำศัพท์ต่าง ๆ แล้ว ย้อนกลับไปดูพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่งก็พอจะอธิบายลักษณะของการเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ว่าพระภิกษุในพระธรรมวินัยนั้น เมื่อเห็นรูป ชึ่งอาจจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม ก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อไปอีกว่า สิ่งนี้ คนนี้สวยหรือไม่สวย หรือสวยน้อยสวยมาก ทั้งนี้เพราะไม่ถือนิมิต และไม่ถืออนุพยัญชนะ การที่สามารถไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะได้ ก็เพราะมีสติกำกับใจ มีสติคุ้มครองใจไม่ให้คิดเรื่องไร้สาระ นั่นคือมีสติสำรวมจักขุนทรีย์ แต่ถ้าสำรวมไม่ได้ คือหยุดความคิดไม่ได้เกิดชอบใจหรือพอใจรูปที่ตนเห็น ก็จะเกิดอภิชฌา คือ ความโลภอยากได้ ซึ่งเป็นกิเลสกามที่นอนเนื่องอยู่ในใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รูปนั้นมาสนองอภิชฌา ก็จะรู้สึกโทมนัสคือเป็นทุกข์ ถึงแม้จะได้รูปนั้นมาตามต้องการ ก็อาจรู้สึกพึงพอใจชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็จะต้องเกิดความโทมนัสในที่สุดอยู่นั้นเอง เพราะรูปนั้นไม่เที่ยง ย่อมเสื่อมสลาย  หรือพลัดพรากจากเราไปในที่สุด นี้คือผลของการไม่สำรวมจักขุนทรีย์

 

      สำหรับอินทรีย์อื่นที่เหลืออีก ๕ อย่างก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่สำรวมแล้วจะมีผลเป็นทุกข์เหมือนกันหมด ถามว่าทุกข์อยู่ตรงไหน ทุกข์ก็อยู่ที่ใจนั้นเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แท้ที่จริงก็คือการสำรวมใจ หรือที่เรียกว่า “สำรวมมนินทรีย์” นั่นเอง

 

      พระภิกษุสำรวมมนินทรีย์หรืออินทรีย์ทั้งหลายได้ ย่อมเสวยสุข เพราะกิเลสภายในกล้ำกรายจิตใจไม่ได้ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วเข้าจิตที่อบรมดีแล้วฉันนั้น” ๓  

 

      คำอธิบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของทฤษฎี ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ในเชิงปฏิบัติ เพื่อที่จะไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ หรือเพื่ออบรมจิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สดจนทสโร)ได้สอนวิธีอบรมจิต เพื่อป้องกันอภิชฌาและโทมนัสเข้าครอบงำไว้ว่า

 

      “สำรวมศีล ใจต้องอยู่ศูนย์กลางกาย๔   นั่นแหละที่ทั้งของศีล ที่เกิดของศีลนั้นจะต้องอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์๕ ดวงธรรมนั้นอยู่กลางกายมนุษย์ ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่กลางกายมนษุย์ ขึงด้ายกลุ่มจากสะดือทะลุหลังขวาทะลุช้าย จุดที่ด้ายสองเส้นนั้นตัดกัน เรียกว่า  ‘กลางกั๊ก’ เป็นที่พึ่งของดวงธรรมของกายมนุษย์ เข้าใจไปหยุดอยู่ตรงนั้น ถ้าหยุดตรงนั้นไม่ได้ละก็ สำรวมไม่ถูกเสียแล้ว..

 

       เมื่อตากระทบรูป ฉาดเข้าให้ มันก็แลบแปลบเข้ามาถึงใจ ถ้าใจไม่หยุด ก็บอกว่า เอาสวยยิ่งเหลือเกินถ้าใจหยุด ก็บอกว่า อ้ายนี่เป็นพิษแก่ข้า ถ้าไม่เอา หยุดเสียอย่างเก่า ไม่ขยับเขยื้อนทีเดียว...

 

       หูกระทบเสียง แปลบเข้า อ้า! เป็นที่ปลาบปลึ้มของใจจริง ๆ จะทำยังไงดี จะเอาหรือไม่เอา ไม่ได้ ๆ ไปรักมันเข้าละก็มันเป็นอภิชฌา เดี๋ยวก็ไปเพ่งมัน เดี๋ยวก็เป็นโทมนัสเดี๋ยวก็ดีใจเสียใจกับเสียงนั้นแหละ ไม่ได้การใจหยุดกึกเสีย ไม่เป็นไปตามความปลื้มใจ อิ่มในเสียงนั้น..

 

       พอกลิ่นกระทบจมูกเข้า แล่นแปลบเข้าไปถึงใจอีกเหมือนกัน กลิ่นนี้หอมชื่นใจนัก จะเอาหรือไม่เข้าใจก็หยุดกึกเสียไม่ได้ อ้ายนี่ถ้าปล่อยไว้ไปติดมันเข้า เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ทำใจของเราให้ต่ำ มันเป็นอภิชฌาโทมนัสมันเป็นข้าศึกต่อเราแท้ ๆ ใจก็หยุดนิ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์...

 

       พอรสกระทบลิ้นเข้าฉาด แหม! อ้ายรสนี่สำคัญแท้ ๆ ชอบใจเสียจริงๆ ใจก็นิ่งเสียอีกไม่ข้องแวะ ไม่เหลียวแลมันเป็นโทษแก่เรา ถ้าขืนไปรับอ้ายรสนี้ละก็ เดี๋ยวความดีใจเสียใจมันต้องประทุษร้ายเรา ใจก็จะนิ่งอยู่ไม่ได้มันก็จะฆ่าเราเสียเท่านั้น ไม่ได้ ๆ ใจก็นิ่งอยู่อย่างนั้น..

 

      พอสัมผัสกระทบร่างกาย เย็นร้อนอ่อนแข็ง เอ้า! ชอบใจหรือไม่ชอบใจเล่า ถูกเข้ามันนิ่มนวลชวนปลาบปลึ้มที่เดียว ไม่ได้ๆ  ไปยุ่งกับอ้ายความสัมผัสไม่ได้ ถ้าเข้าไปยุ่งกับมันประเดี๋ยวเถอะ พาโทมนัสมาประทุษร้ายใจเราใจเราหยุดไม่ได้ เดี๋ยวเสียภูมิ เดี๋ยวใจของนักปราชญ์จะกลายเป็นใจของคนพาลไปเสีย ก็หยุดนิ่งเสียอีกไม่ยอมให้ทั้ง ๕อย่างเคยเข้ามาสู่ใจ ถ้าเลยเข้ามาได้ก็ขาดความสำรวม ถ้าขาดความสำรวมใจก็เป็นโทษ เป็นโทษอย่างไร อภิชฌาและโทมนัสก็เข้าบังคับใจ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ...ถ้าจะให้อภิชฌาและโทมนัสบังคับไม่ได้ก็จงทำใจให้หยุดเสีย..” ๖ 

 

      จากพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ยกมานี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า การเจริญสมาธิภาวนาเป็นเครื่องมือใช้อบรมใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากการเจริญภาวนาแล้ว ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีอันใดที่จะบังคับใจให้หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ เมื่อใจท่องเที่ยว คิดเรื่องไร้สาระอยู่เรื่อยไป สำรวมระวังมนินทรีย์ไม่ได้ ย่อมเปิดโอกาสให้อภิชฌาและโทมนัสเข้าครอบงำ ทำให้ต้องเสียทุกขเวทนา เพราะความคิดฟุ้งซ่านหรือเพราะพฤติกรรมทุศีลของตนเองอยู่ร่ำไป

 

      อนึ่ง เมื่อพระภิกษุบำเพ็ญอินทรียสังวรศีลได้บริบูรณ์แล้วอภิชฌาและโทมนัสก็ไม่อาจเข้าครอบงำใจได้ยังผลให้สามารถบำเพ็ญปาฏิโมกขสังวรศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย เพราะมีสติเป็นตัวกำกับศรัทธาอีกต่อหนึ่งจึงกล่าวได้ว่า ปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น สำเร็จด้วย ศรัทธา ๗

 

 

-------------------------------------------

 

๑ สามัญญผลสูตร ที.สี. ๙/๑๒๒/๙๓

๒ พระวิสุทธิมัคค์ เผดจ เล่ม ๑ หน้า ๙๙

๓ ขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๖

๔ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คือ ตำแหน่งกึ่งกลางลำตัว เหนือระดับสะดือขึ้นมาประมาณ ๒ นิ้ว มือที่วางทาบซ้อนกัน

๕ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีหน้าที่รักษากายมนุษย์ไว้ไม่ให้แตกสลาย หากดวงธรรมนี้แตกดับไป ชีวิตมนุษย์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องดับสลายไปเหมือนกัน ดวงธรรมนี้ มีลักษณะเป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ เป็นของละเอียดที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ จะเห็นได้ด้วยใจที่หยุดนิ่งเป็นสมาธิเท่านั้น

๖  มรดกธรรม หน้า ๔๘๕-๔๘๖

๗  ปาฏิโมกขสังวรศีล สำเร็จได้ด้วย   “ศรัทธา”             อินทรียสังวรศีล     สำเร็จได้ด้วย   “สติ”

    อาชีวปาริสุทธิศีล   สำเร็จได้ด้วย   “ความเพียร”        ปัจจัยสันนิสสิตศีล สำเร็จได้ด้วย   “ปัญญา”

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล