ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
2. ธรรมราชาพิมพิสาร
พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นมคธในขณะนั้นคือ พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทั้งในด้านการบริหารประเทศและการสงคราม พระองค์ทรงดำเนินกุศโลบายด้านต่างประเทศ โดยทรงผูกไมตรีกับแคว้นมหาอำนาจต่างๆอย่างแยบคาย เป็นต้นว่า ได้อภิเษกสมรสกับพระนางเวเทหิ พระราชธิดาแห่งแคว้นโกศล เมื่อพระราชอำนาจมั่นคงแล้ว จึงทรงแผ่ขยายดินแดนด้วยการทำสงคราม เช่น ทรงกรีฑาทัพบุกเข้ายึดแคว้นอังคะ อันเป็นเหตุให้พระเจ้าพรมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นอังคะสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงก่อเวรปาณาติบาตอีกมาก หากไม่ทรงพบและได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนทรงบรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน
นับแต่พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา ความกระหายต่ออำนาจก็ลบเลือนไปจากพระทัยของพระองค์ ทรงยุติสงครามนองเลือดทั้งปวงหันมาดำเนินกุศโลบายใหม่ โดยใช้ธรรมเป็นเครื่องผูกไมตรี ดังเช่น ทรงแจ้งข่าวและพรรณนาสรรเสริญการบังเกิดขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พระเจ้าปุกกุสาติแห่งแคว้นคันธาระ ทรงส่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ไปถวายการรักษาพยาบาลพระเจ้าจัณฑปัชโชติ แห่งแคว้นอวันตี เป็นต้น นับแต่นั้นแคว้นมคธก็มีแต่ความสงบร่มเย็นเสมอมา เพราะมีพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม
ในด้านการศาสนา พระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากสำคัญ ผู้เปี่ยมด้วยความเคารพ และศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา โดยทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน สร้างเป็นวัดชื่อ “เวฬุวันมหาวิหาร” นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปจนตลอดพระชนม์ชีพ
เพราะทรงเป็นพระโสดาบัน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงตระหนักดีว่า การแผ่ขยายพระราชอำนาจด้วยการรบพุ่งฆ่าฟันกันดังเช่นที่พระองค์ทรงเคยกระทำมาในอดีตนั้น เป็นบาปกรรมอันจะนำมาซึ่งความทุกข์ในเบื้องหน้า ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัยเป็นอย่างดีว่า มีเพียงพระรัตนตรัยเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งอันแท้จริงของทุกชีวิต พระองค์จึงเพียรพยายามพาอชาตศัตรูราชกุมารไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะปลูกฝังพระโอรสให้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยตั้งแต่เยาว์วัย