ความหมายของสมาธิ
สมาธิ อาจให้คำจำกัดความได้หลายอย่าง เช่น
๑) สมาธิ คือ สภาวะที่ใจปราศจากนิวรณ์ ๕
๒) สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องเป็น “เอกัคคตา” หรือบางทีใช้ว่า “เอกัคคตารมณ์”
๓) สมาธิ คือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา
๔) สมาธิ คือ อาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ ณ ศูนย์กลางกายของตนเองอย่างต่อเนื่องมีแต่ความบริสุทธิ์ ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นได้ด้วยใจตนเองอันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติได้ในเวลาเดียวกัน
ลักษณะของใจ
ใจของคนเรานั้น มีลักษณะเป็นดวงกลมใส โดยทั่วไปเราไม่สามารถมองเห็นใจได้ด้วยตาของเราเอง แต่ผู้ที่เจริญภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย๑เชี่ยวชาญดีแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นใจของตนเองและแม้ของผู้อื่นได้ชัดเจนว่า ดวงใจของคนเรานั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตเท่ากระบอกตาของตนเองตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางลำตัว เหนือระดับสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ เนื้อของดวงใจมีลักษณะเป็นดวงซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ๔ ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นนอกเป็น ดวงเห็น ชั้นที่สองเป็น ดวงจำ ชั้นที่สามเป็น ดวงคิด และชั้นในสุดเป็น ดวงรู้
ดวงเห็น
เป็นดวงชั้นนอกสุด ขนาดโตเท่ากระบอกตาของตนเอง มีหน้าที่รับอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือรับรูปผ่านประสาทตา รับเสียงผ่านประสาทหู รับกลิ่นผ่านประสาทจมูก รับรสผ่านประสาทลิ้น รับสัมผัสผ่านประสาทกายและรับธรรมารมณ์ที่มากระทบใจ
ดวงจำ
เป็นเนื้อใจชั้นที่สอง ซ้อนอยู่ข้างในดวงเห็นแต่ใสกว่าดวงเห็น ขนาดโตเท่าดวงตาของเรา มีหน้าที่ “จำ” สิ่งที่ได้เห็น จำเสียงที่ได้ยิน จำกลิ่นที่ได้สูดดม จำรสที่ได้ลิ้ม จำสัมผัสที่ได้แตะต้อง และจำธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิต
ดวงคิด
เป็นเนื้อใจชั้นที่สาม ซ้อนอยู่ในดวงจำ แต่ใสกว่าดวงจำ มีขนาดเท่าดวงตาคำของเรา มีหน้าที่ “คิด” ได้แก่การที่จิตคิดพิจารณาไตร่ตรองเรื่องต่าง ๆ
ดวงรู้
เป็นเนื้อใจชั้นในสุด ซ้อนอยู่ข้างในดวงคิด แต่ใสกว่าดวงคิด มีขนาดเท่าแววตาดำของเรา มีหน้าที่ “รู้” คือรู้รูปที่เห็นทางตา รู้เสียงที่ได้ยินทางหู รู้กลิ่นที่ได้สูดทางจมูก รู้รสที่ได้ลิ้มทางลิ้น รู้สัมผัสที่ได้แตะต้องทางกาย และรู้อารมณ์ที่คิดด้วยจิต
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เนื้อของดวงใจทั้ง ๔ ชั้น ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นดวงใจนี้ อาจเปรียบได้กับผลมะพร้าว กล่าวคือ “ดวงเห็น” ซึ่งเป็นดวงชั้นนอกสุด อาจเปรียบได้กับเปลือกนอกของผลมะพร้าว “ดวงจำ” ซึ่งซ้อนถัดจาก “ดวงเห็น” เข้าไป อาจเปรียบได้กับกะลามะพร้าว ส่วน “ดวงรู้” ซึ่งเป็นดวงในที่สุด เปรียบได้กับเนื้อมะพร้าว ดวงทั้ง ๔ นี้ ซ้อนกันอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กึ่งกลางลำตัว เหนือระดับสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ
ความหมายที่สมบูรณ์ของสมาธิ
ที่กล่าวว่า สมาธิคืออาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่ง ดังคำจำกัดความข้อ (๔) นั้นย่อมหมายความว่า ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ซึ่งซ้อนกันอยู่นั้น หยุดรวมเป็นจุดเดียวกัน ณ ศูนย์กลางกายนั่นเอง เมื่อรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ย่อมแทรกแซงเข้าไปไม่ได้ ดังคำจำกัดความข้อ (๑) เมื่อหยุดเป็นจุดเดียวใจย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ดังคำจำกัดความข้อ (๒) และไม่ซัดส่าย ดังคำจำกัดความข้อ (๓)
ดังนั้น เราจึงอาจจะสรุปความหมายที่สมบูรณ์ของสมาธิได้ใหม่ว่า “สมาธิ คือ สภาวะที่ใจปลอดจากนิวรณ์ ๕ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว รวมเป็นจุดเดียว ไม่ซัดส่ายเลย สงบนิ่งจนปรากฏเป็นดวงใสบริสุทธิ์ผุดขึ้น ณ ศูนย์กลางกาย ซึ่งจะสามารถยังผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อการบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑. ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม มีอยู่ที่ศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน จะเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง และดำเนินจิตเข้าสู่หนทางสายกลาง ธรรมกายมีความเห็นพิเศษที่เรียกว่า ธรรมจักษุ หรือ ตาธรรมกาย มีความรู้พิเศษที่เรียกว่า ญาณ หรือ ญาณทัสสนะ เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงสามารถทั้งรู้ทั้งเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง พระสิทธัตถราชกุมารตรัสรู้อริยสัจสี่ด้วยธรรมกาย จึงได้เข้าถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า