กัณหฤาษี
มนุษย์มักจะเรียกร้องต้องการอิสรภาพและความสุข แต่ในความเป็นจริง มนุษย์กลับจองจำตนเองไว้ภายในกำแพงแห่งลาภ ยศ สรรเสริญ อันเป็นกำแพงซึ่งขวางกั้นมนุษย์ไว้ไม่ให้รู้อิสรภาพและความสุขที่แท้จริง ถึงอย่างนั้น มันก็มิอาจปิดบังสายตาของผู้มีปัญญาได้ ดังนั้น แม้ชีวิตภายในกำแพงลาภ ยศ สรรเสริญนี้ จะหอมหวลเย้ายวนสักปานใด ก็ยังมีผู้ยินดีจากไปอย่างไม่เหลียวหลัง
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เนื่องจากเกิดมามีผิวดำ จึงได้ชื่อว่า “กัณหกุมาร” พออายุได้ ๑๖ปี ได้ไปศึกษาศิลปะต่างๆ ในเมืองตักสิลา เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ครอบครองสมบัติทั้งหมด
อยู่มาวันหนึ่ง กัณหมาณพตรวจดูทรัพย์สินที่ตนมีอยู่ เห็นในบัญชีแผ่นทองเขียนไว้ว่า ทรัพย์นี้เป็นของปู่หามาได้ ทรัพย์นี้เป็นของพ่อหามาได้ จึงได้คิดว่า ทรัพย์นี้เป็นของบรรพบุรุษเหล่านั้น ซึ่งก็ตายจากไปหมดแล้ว ไม่มีใครเอาทรัพย์ไปได้สักคน แล้วคิดพิจารณาต่อไปว่า
“ทรัพย์เหล่านั้น ไม่ได้ให้สาระอะไรกับชีวิต แถมยังเป็นภาระให้กับผู้เป็นเจ้าของต้องคอยหวงแหน และระวังภัยต่างๆ เช่น ภัยจากการถูกยึดรับเข้าเป็นของหลวง ภัยจากโจรผู้ร้าย ภัยจากไฟไหม้ น้ำท่วม หรือถูกลูกหลานผลาญเล่น มีเพียงการเอาทรัพย์ออกบริจาคให้เป็นทานเท่านั้นที่เป็นสาระอย่างแท้จริง
ร่างกายของคนเราก็ไม่เป็นสาระ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะมีสาระก็ต่อเมื่อใช้ชีวิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อรู้แจ้งเห็นแจ้งธรรมตามเป็นจริง
ดังนั้น เราควรที่จะทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อแสวงหาสิ่งอันเป็นสาระให้กับตนเอง”
เมื่อกัณหมาณพคิดอย่างนี้แล้ว จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา เพื่อขออนุญาตบริจาคทรัพย์สมบัติของตน แล้วกลับมายังคฤหาสน์ของตน ทำการให้ทานเป็นการใหญ่ จนครบ๗ วัน ทรัพย์สินที่มีอยุ่ก็ยังไม่หมด เขาเกิดความคิดว่า
“ไม่มีประโยขน์อะไรเลยที่จะครองทรัพย์นี้อยู่ ควรใช้ช่วงเวลาในวัยหนุ่มที่ยังแข็งแรงอยู่ทำความเพียรให้เกิดขึ้น เพื่อให้ได้อภิญญาและสมาบัติจะดีกว่า”
คิดดังนี้แล้ว ก็เปิดประตูเรือนทุกบาน ประกาศให้ผู้คนทั้งหลายเข้ามาหยิบทรัพย์ไปได้ตามความต้องการ แล้วออกเดินทางเข้าป่า บวชเป็นฤาษี มีชีวิตอย่างมักน้อย สันโดษอย่างยิ่ง อาศัยเพียงผลไม้ ใบไม้ ตามที่มีในที่นั้นเป็นอาหาร มีสุขอยู่ตามโคนไม้ ถือธุดงควัตรเพื่อขัดเกลากิเลส ต่อมาไม่นาน ได้เข้าถึงอภิญญาสมาบัติ มีความสุขเพลิดเพลินในธรรมอย่างยิ่ง
เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอที่จะทำให้กัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ ร้อนผิดปกติขึ้นมาได้ พระองค์พึมพำว่า “ใครหนอที่เป็นเหตุ”
เมื่อสอดส่องมองดู ก็เห็นฤาษีผู้มีตบะกล้ากำลังเก็บผลไม้อยู่ จึงลงมาด้วยฤทธิ์ ยืนอยู่ข้างหลังฤาษี แล้วแกล้งพูดว่า
“ผู้ชายคนนี้ ช่างผิวดำเสียจริงหนอ แล้วยังเลือกกินผลไม้ที่ดำๆ อยู่ในถิ่นที่ดำสกปรกอีก เราไม่ชอบใจเลย”
กัณหฤาษีรู้ด้วยทิพย์ว่า ผู้พูดนั้นเป็นพระอินทร์ จึงตอบว่า
“คนที่ทำแต่ความเพียร มีศีล มีธรรม มีธรรมะภายใน ไม่ชื่อว่า เป็นคนดำ ส่วนคนพาลที่ยังมีความพอใจในการประกอบกรรมชั่วสิ จึงชื่อว่า เป็นคนดำนะ ท่านท้าวสักกะ”
เมื่อพระอินทร์ได้ฟังแล้ว มีความรู้สึกปีติเบิกบานใจในคำตอบของพระฤาษีเป็นอย่างมาก จึงกล่าวว่า
“ที่ท่านกล่าวมานั้นดีแล้ว เราจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงขอพรตามใจปรารถนาเถิด”
พระโพธิสัตว์มีความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่พระอินทร์มาแกล้งลองใจ และรู้ว่า พระอินทร์สำคัญผิดว่า ที่ท่านออกบวชเพราะต้องการเป็นใหญ่เป็นแน่ จึงคิดจะช่วยแก้ความเข้าใจผิดนั้นด้วยการขอพร ๔ประการ ดังนี้ คือ
“ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ ถ้าท่านจะให้พร ข้าพระองค์ขอพรว่า
ขอให้ข้าพระองค์มีความประพฤติดี
เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่โกรธตอบใคร
เป็นผู่ไม่มีโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายใคร
เป็นผู้ไม่มีความโลภในสมบัติของผู้อื่นและอย่าให้มีความสิเนหา คือ ไม่โลภแม้ในสมบัติของตนด้วยเถิด”
พระอิทร์รู้สึกประหลาดใจที่กัณหฤาษีขอพรที่ไม่มีใครเหมือนเช่นนั้น จึงถามว่า
“นี่แนะ ท่านฤาษี ท่านเห็นโทษอะไรในความโกรธ โทสะ โลภะ และสิเนหา ช่วยบอกให้เราทราบด้วดเถิด”
กัณหาฤาษีตอบว่า
“ความโกรธนั้น เกิดจากความไม่อดทน แรกๆ อาจจะโกรธน้อยแล้วค่อยๆ ทวีมากขึ้น จนยากที่จะสละตัดอารมณ์โกรธไปได้ เมื่อความโกรธมีขึ้นกับผู้ใด ย่อมเผาผลาญใจของผู้นั้นให้เร่าร้อน กระวนกระวาย เกิดความรู้สึกคับแค้น มีผลให้ทำความชั่วร้ายอื่นๆ ได้มาก เพราะเหตุนี้เราจึงไม่ชอบความโกรธ
ส่วนผู้ที่มีโทสะ มักจะเริ่มจากคำพูดที่หยาบคาย แล้วคิดการร้าย ตามด้วยการเข้าฉุดลาก ชกต่อย ทุบตี จนถึงขนาดจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน หากถึงขั้นฆ่ากันด้วยอาวุธแล้ว ถือได้ว่า โทสะ ทำงานของเขาสำเร็จแล้ว โทสะมีโทษอย่างนี้ เราจึงไม่ชอบโทสะ
ความโลภนั้น เป็นเหตุให้มีใจหยาบ ปรารถนาอยากได้ของของคนอื่น เป็นเหตุให้เที่ยวปล้น ขู่กรรโชก เอาของของเขามาเป็นของตน ทำอุบายล่อลวงต่างๆ ฉะนั้นเราจึงไม่ชอบความโลภ
ใจของแต่ละคนมีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด หนุนนอนเนื่องอยู่มากมาย คอยสร้างความเดือดร้อนให้ต่างๆ นานาอยู่แล้ว หากถูกสิเนหาผูกมัดไว้อีก ก็ยิ่งยากที่จะดิ้นรนให้ใจหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการได้ เพราะใจจะเกิดความยึดถืดว่า นั่นของเรา นี่ของเราอยู่ร่ำไป ถูกบ่วงสิเนหาเหล่านี้ฉุดรั้ง มิให้ไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ดังนั้น เราจึงไม่ชอบความสิเนหา”
พระอินทร์ได้สดับแล้ว รู้สึกชื่นชนอย่างยิ่ง จึงเสนอให้กัณหาฤาษีขอพรเพิ่มอีก พระโพธิสัตว์จึงกล่าวต่อไปว่า
“ข้าแต่ท้าวสักกะ หากจะให้พรอีก ก็ขอพรว่า ขอให้ความเจ็บป่วยทั้งหลาย อย่าได้เกิดแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นนักบวชทำความเพียรอยู่ตามลำพังนี้เลย”
ท้าวสักกะเห็นว่า กัณหบัณฑิตจะรับพรที่ไม่อิงด้วยวัตถุสิ่งของ ลาภ ยศทั้งหลาย จึงเกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ปรารถนาจะให้พรเพิ่มขึ้นอีก
พระโพธิสัตว์จึงขอพรเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“ขอให้กายและใจของข้าพเจ้า อย่าได้กระทบกระทั่งใคร ไม่ว่าในกาลไหนๆ ด้วยเถิด”
พระโพธิสัตว์ผู้ทรงปัญญา เมื่อตัดสินใจว่า จะแสวงหาความสุขในธรรม ท่านก็มิยอมให้สิ่งใดมาเป็นเครื่องพันธนาการชีวิตอีกต่อไป แม้ความปรารถนาทุกประการของท่าน ก็ล้วนเป็นไปเพื่อส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ใจของท่านจึงเป็นอิสระและสามารถค้นพบความสุขที่แท้จริงได้ในที่สุด
ในวันนี้ แม้ว่าใจของเราอาจจะยังถูกพันธนาการด้วยเครื่องกังวลมากมาย แต่ถ้าหากว่าเราเป็นผู้รักการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว สักวันหนึ่งอิสรภาพย่อมเป็นของเรา และเมื่อนั้นเราก็จะค้นพบและเข้าถึงความสุขที่แท้จริงเช่นกันอย่างแน่นอน
(จากหนังสือ พระอธิธรรม ๗ คัมภีร์และภาวนาธรรม)