ข่มกิเลสด้วยอุโบสถศีล
อุโบสถศีล แปลว่า การเข้าอยู่จำโดยถือศีล ๘ ข้อ วันอุโบสถหรือวันพระนั้น เป็นวันที่เราจะต้อง อยู่เยี่ยงพระ คือบำเพ็ญเนกขัมมะนั่นเอง ศีลแปดที่รักษากันในวันพระ เรียกว่า อุโบสถศีล ผู้ครองเรือนทั่วไปไม่สะดวกถือศีล ๘ ได้ทุกวัน ก็จะหาโอกาสมาถือศีลกันเฉพาะวันพระเช่นนี้จึงเรียกว่า รักษาอุโบสถศีล
ในอดีตกาลนานไกลโพ้น ณ หิมวันตประเทศ ดาบสผู้หนึ่งเป็นคนถือตัวจัด (มานะ) จนทำณานไม่สำเร็จ จึงคิดว่า “ หากเรายังขืนถือตัว ถือตนมากอยู่อย่างนี้เห็นทีจะตกนรกเป็นแน่ “ จึงอธิษฐานว่า “ เอาละ หากเรายังละมานะ (ความถือตัวถือตน) ไม่ได้ จะไม่ยอมไปหาอาหาร (ผลไม้) มาบริโภคเป็นอันขาด ตายเสียดีกว่า ถ้ายังมีมานะอยู่เช่นนี้ “ จึงสมาทานอุโบสถศีล ( ศีล 8 ) นั่งข่มมานะอยู่
นกพิราบตัวหนึ่งถูกราคะ (ความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส) แผดเผาให้เร่าร้อน คิดในใจว่า “ หากเรายังข่มราคะไม่ได้ จะไม่ออกไปหากินเป็นอันขาด “ จึงไปหาดาบส ขอสมาทานศีลอุโบสถเพื่อข่มราคะ
งูตัวหนึ่งก็สมาทานอุโบสถศีล เพื่อข่มความโกรธ (โทสะ ความคิดประทุษร้าย)
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งก็เช่นกัน สมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มความโลภ (ความอยากได้)
หมีตัวหนึ่งก็สมาทานศีลอุโบสถเพื่อข่มความอยากได้จัด ความเพ่งเล็งอยากจะได้ถ่ายเดียว (อภิชณาวิสมโลภะ)
พึงทราบว่า การรักษาศีลอุโบสถนั้น สามารถข่มกิเลสหรือ กำจัดบาป (ความชั่ว) ทั้งหลายได้ จะได้รับอานิสงส์ผลเป็นวามสุขสงบกาย วาจา พร้อมกับเสริมด้วยการเจริญวิปัสสนาสมาธิ ทำจิตให้นิ่งสงบจะมีสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้
การกล่าวว่า การรักษาศีลอุโบสถแล้วสามารถข่มกิเลส มีราคะเป็นต้นได้นั้นมีเหตุผล เพราะศีลอุโบสถทั้ง 8 เช่น เว้นการดื่มสุรา เว้นบริโภคอาหาร เว้นการฟังเพลง หรือดูการเล่นเต้นรำ เว้นลูบทาเครื่องหอม เครื่องประดับตกแต่ง เว้นการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหรา สุขสบายเป็นต้นนั้นเสียได้ ก็เท่ากับเว้นจากเครื่องยั่วยุหรือเรื่องเร้า ที่จะเร้าให้เกิดราคะเป็นต้นระงับไป จึงเป็นการข่มกิเลสลงได้ระดับหนึ่งการที่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการรักษาศีลอุโบสถ จึงมีเหตุผล และชอบด้วยเหตุผล
ที่มา : วรรณกรรมในพระไตรปิฎก
ระยะเวลาของการรักษาอุโบสถศีล
การรักษาอุโบสถ มี ๓ อย่าง สามารถเลือกรักษาได้ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล คือ
๑. ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษากันเฉพาะวันที่กำหนดไว้ ในปัจจุบันนี้กำหนดเอาวันพระ คือ วัน ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
๒. ปฏิชาครอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันครั้งละ ๓ วัน โดยการถือเพิ่มการรักษาก่อนกำหนด ๑ วัน เรียกว่า วันรับ และหลังวันกำหนดอีก ๑ วัน เรียกว่า วันส่ง จึงรวมเป็นรักษาคราวละ
๓ วัน คือ วันรับ วันรักษา และวันส่ง รวม ๓ วัน ๓ คืน
๓. ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษาครั้งละหลายๆ วัน เช่น ตลอดพรรษา ๓ เดือนบ้าง ตลอด ๑ เดือนบ้างหรือครึ่งเดือนจำนวน ๑๕ วันบ้าง
ศีลอุโบสถนั้น มีองค์ประกอบทั้งหมด ๘ ข้อ ถ้าขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เรียกว่าศีลอุโบสถตาม พุทธบัญญัติ เพราะฉะนั้นการล่วงศีลอุโบสถเพียงข้อใดข้อเดียว ก็ถือว่าขาดศีลอุโบสถ พูดง่ายๆ ว่า ขาดศีลข้อเดียวก็ขาดหมดทั้ง ๘ ข้อ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจึงต้องสำรวมระวัง กาย วาจา เป็นพิเศษ
อุโบสถศีล มี ๘ ประการ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. อพรหมจริยา เวรมณี งดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ รวมถึงวจีกรรมในรูปแบบต่างๆ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้น จากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี งดเว้นจากการบริโภค อาหารในเวลาวิกาล
๗. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธวิเลปน-ธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ลูบทาทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่อง ทาอันจัดว่าเป็นการแต่งตัว
๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่