การปฏิบัติตนของพระเจ้าอชาตศัตรูต่อเจ้าลัทธิต่างๆ
จากเรื่องราวที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูทรงปรีชาชาญฉลาดมิใช่น้อยเลย เพราะทรงสามารถสำนึกผิดในอกุศลกรรมที่ทรงก่อไว้ ไม่ทรงปล่อยพระองค์ให้ถลำลึกลงไปในวังวนแห่งอกุศลกรรมอีกต่อไป แต่ทรงพยายามขวนขวายแสวงหาทางแก้ไข โดยเสด็จไปหาความจริงจากเจ้าลัทธิต่างๆ มีสำนักครูทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้ว
ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูได้ฟังคำสอนของครูทั้ง ๖ ก็ทรงมีปรีชาสามารถวินิจฉัยได้ว่า คำสอนของเจ้าลัทธิแต่ละท่านนั้นไม่น่าเลื่อมใสศรัทธากล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นคำสอนที่เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” นั้นเอง แล้วเสด็จลาจากมาโดยอาการสงบ เพราะไม่ทรงปรารถนาจะรุกรานนักบวชการปฏิบัติของพระเจ้าอชาตศัตรูต่อเจ้าลัทธิเหล่านั้น มีข้อสังเกต ๒ ประการคือ
๑. ทรงมีวินิจฉัยคำสอนของครูทั้ง ๖ ด้วยปรีชาชาญ
๒. ไม่ทรงส่งเสริมนักบวชที่ไม่ทรงเลื่อมใสศรัทธา แต่ก็ไม่ทรงรุกราน
ข้อสังเกตประการแรกนั้น อาจมีผู้ถามว่า เหตุใดในครั้งที่ทรงเป็นราชกุมารคบหาสมาคมกับพระเทวทัตอยู่นั้น จึงทรงปฏิบัติราวกับไร้สติปัญญาทรงกระทำตามคำแนะนำอันชั่วช้าสามานย์ของพระทุศีลเทวทัต อย่างไร้ความละอายต่อบาปเล่า
ถ้ายึดหลักธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน หรือผู้ยังมีกิเลสโดยทั่วไปแล้ว อาจตอบคำถามดังกล่าวได้ว่า พระทัยของเจ้าชายอชาตศัตรูในขณะนั้นมืดมนด้วยอำนาจกิเลส เสมือนหนึ่งผู้ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความมืดมิด ขาดแสงสว่าง หาทางออกไม่ได้ สุดแล้วแต่ใครจะฉุดกระชาลากไป กิเลสตัวสำคัญก็คือ “ความหลง” ความหลงประการแรกของอชาตศัตรูราชกุมารก็คือความเลื่อมใสในปาฎิหารย์ของพระเทวทัต จนเชื่ออย่างสุดพระทัยว่า พระเทวทัตนั้นเลิศกว่าใครๆในโลกนี้ และอีกประการหนึ่งก็คือ ทรงหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต เพราะทรงเยาว์วัยขาดความจัดเจนต่อโลกจึงไม่ทันเลห์กลของคนพาล
ถ้ายึดหลักธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน หรือผู้ยังมีกิเลสโดยทั่วไปแล้ว อาจตอบคำถามดังกล่าวได้ว่า พระทัยของเจ้าชายอชาตศัตรูในขณะนั้นมืดมนด้วยอำนาจกิเลส เสมือนหนึ่งผู้ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความมืดมิด ขาดแสงสว่าง หาทางออกไม่ได้ สุดแล้วแต่ใครจะฉุดกระชาลากไป กิเลสตัวสำคัญก็คือ “ความหลง” ความหลงประการแรกของอชาตศัตรูราชกุมารก็คือ ความเลื่อมใสในปาฎิหารย์ของพระเทวทัต จนเชื่ออย่างสุดพระทัยว่า พระเทวทัตนั้นเลิศกว่าใครๆในโลกนี้ และอีกประการหนึ่งก็คือ ทรงหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต เพราะทรงเยาว์วัย ขาดความจัดเจนต่อโลกจึงไม่ทันเลห์กลของคนพาล
กิเลสสำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ “ความโลภ” อชาตศัตรูราชกุมารย่อมมีความโลภเหมือนปุถุชนทั้งหลายที่ปรารถนาอำนาจครอบครองมหาสมบัติ เมื่อมีความหลงประสานกับความโลภเข้าเต็มอัตรา ตามกลลวงที่พระทุศีลเทวทัตวางแผนไว้ อชาตศัตรูราชกุมารจึงมีสภาพไม่ผิดกับผู้ที่กำลังเดินทางอยู่ในความมืดมิด ย่อมหลงไปตามการชักนำของผู้ที่พระองค์ทรงไว้วางพระทัย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงก่ออกุศลกรรมหนักถึงขั้นอนันตริยกรรมแล้ว แม้พระองค์จะได้ครองราชย์บัลลังก์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งแคว้นมคธอันยิ่งใหญ่ไพศาล แต่พระองค์ก็หาได้ทรงมีความสุขสงบในอำนาจนั้นไม่ กลับทรงดิ้นรนแสวงหาสัจธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด กรณีเช่นนี้ย่อมกล่าวได้ว่า “อกุศลกรรมชักนำไปสู่กุศลกรรม”
สำหรับข้อสังเกตประการที่สอง คือ การที่พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงส่งเสริม และไม่ทรงรุกรานนักบวชที่มีคำสอนเป็นมิจฉาทิฏฐิ น่าจะเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับสภาพสังคมในปัจจุบัน กล่าวคือ ในประเทศไทยนั้น เราถือว่าเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่ของชาติเป็นพุทธศาสนิกชน พระภิกษุตามวัดต่างๆ ตลอดจนตามสำนักสงฆ์ต่างๆทั่วประเทศ ย่อมได้รับการทำนุบำรุงจากพุทธศาสนิกชนทั้งปวง
ชาวพุทธทั้งหลายเมื่อไปเคารพกราบไหว้พระภิกษุสงฆ์จำเป็นจะต้องมีวิจารณญาณ มีวินิจฉัยว่าการประพฤติปฏิบัติและคำเทศน์สอนของพระภิกษุที่ท่านไปเคารพกราบไหว้นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ ถูกต้องตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ หากเห็นว่าพระภิกษุที่ท่านไปเคารพกราบไหว้หรือทำนุบำรุง ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ควรลาจากไปอย่างสงบ ทำนองเดียวกับที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงปฏิบัติ
เพียงแต่ญาติโยมงดเว้นการบำรุงพระภิกษุที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเสียเท่านั้น บรรดาพระทุศีลผู้ปฏิบัติย่อหย่อนในพระธรรมวินับ หรือสั่งสอนนอกลู่นอกทาง ย่อมจะต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง หรือมิฉะนั้นก็คงจะต้องสึกหาลาเพศออกไป ไม่ยึดเอาเครื่องแต่งกายของบรรพชิตเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพด้วยการเบียดเบียนประชาชน และบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเรื่อยไป
***สำหรับลักษณะของพระภิกษุผู้ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั้น จะได้กล่าวในลำดับต่อไป***