“กาม” คืออะไร กามประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
๑. กิเลสกาม
๒. วัตถุกาม
๑. กิเลสกาม
คำว่า “กิเลส” โดยรูปศัพท์ หมายถึงความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์
“กาม” หมายถึง ความใคร่ ความอยาก หรือ สิ่งที่น่าปรารถนา ดังนั้น “กิเลสกาม” จึงหมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในใจ แล้วผลักดันให้ ทำสิ่งที่ผิด เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา
กิเลสกามแบ่งออกเป็น ๑๐ อย่าง คือ
๑) โลภะ ได้แก่ ความโลภ อยากได้ของผู้อื่นในทางผิด
๒) โทสะ ได้แก่ ความคิดประทุษร้ายผู้อื่น เบียดเบียนรังแกผู้อื่น
๓) โมหะ ได้แก่ ความหลง หรือความไม่รู้ตามความเป็นจริง
๔) มานะ ได้แก่ ความถือตัว สำคัญว่าตัวดีกว่า เหนือกว่าผู้อื่น
๕) ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิด ๆ ดื้อดึง เมื่อ “ทิฏฐิ” รวมกับ “มานะ” เป็น “ทิฏฐิมานะ” จึงหมายความว่า “ดื้อรั้นอวดดีหรือดื้อดึงถือตัว”
๖) วิจิกิจฉา ได้แก่ ความลังเลสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย
๗) ถีนะ ได้แก่ ความหดหู่ ความท้อแท้ถดถอย
๘) อุทธัจจะ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ขาดความสงบในจิตใจ
๙) อหิริกะ ได้แก่ ความไม่ละอายต่อความชั่วทั้งหลาย
๑๐) อโนตตัปปะ ได้แก่ ความไม่เกรงกลัวต่อชั่ว
๒. วัตถุกาม
หมายถึง วัตถุอันน่าใคร่น่าปรารถนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กามคุณ แบ่งออกเป็น ๕ อย่าง คือ
๑) รูป คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นได้ด้วยตา
๒) เสียง คือ เสียงต่าง ๆ ที่เราได้ยินได้ด้วยหู
๓) กลิ่น คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่เราดมได้ด้วยจมูก
๔) รส คือ รสต่าง ๆ ที่เรารับรู้ได้ด้วยลิ้น
๕) โผฏฐัพพะ คือ สัมผัสที่เรารับรู้ได้ด้วยผิวกาย
จะเห็นว่า “กิเลสกาม” นั้นเป็นลักษณะของใจคนเราที่เกิดความคิดชั่วขึ้นได้เองอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่อบรมขัดเกลา ก็มีแต่จะพอกพูนทวีมาก
ขึ้น ๆ ครั้นเมื่อกิเลสกามมากระทบกับวัตถุกาม ใจคนเราซึ่งมีโลภะ และโมหะเป็นเชื้อสำคัญอยู่แล้ว ย่อมจะเกิดความรู้สึกว่า วัตถุกามต่าง ๆ ล้วนน่าใครน่า
ปรารถนาไปหมด ถ้าได้วัตถุกามเหล่านั้นมาสมใจตนเองย่อมจะรู้สึกเป็นสุข จึงเกิดความเพียรพยายามแสวงหาวัตถุกามมาไว้ในครอบครองให้มากเท่าที่จะมาก
ได้ ในที่สุดก็กลายเป็นความหลง ยึดมันถือมันอยู่กับวัตถุกามนั้น ๆ
ในทำนองกลับกัน ถ้าพลาดหวังในวัตถุกามที่ตนปรารถนาคนเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ หากไม่เกิดความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือผิดหวังอย่างรุนแรง จนถึงกับ
ทำลายตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆไปเสียก่อน โทสะ โมหะ ทิฏฐิมานะ ตลอดจนความไม่ละอายและความไม่เกรงกลัวต่อความชั่วและบาปทั้งหลาย ซึ่งนอนเนื่อง
อยู่ในใจคนเราตลอดเวลานั้น ก็จะกระตุ้นหรือหันเหความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น มาเป็นความคิดประทุษร้าย เบียดเบียนรังแกผู้อื่นโดยประการต่าง ๆ จึงเกิดการสั่งสม
บาปให้แก่ตนเองด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาโดยแท้นี่คือทางมาแห่งธุลีหรือกิเลสประการหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ อันเนื่องมาจากวัตถุกามหรือกามคุณ ๕ ล้วนมีแต่โทษภัยต่อใจคนเราทั้งสิ้น ตราบใดที่คนเรายังมีความคิดว่า กามคุณ
๕ เท่านั้นที่จะทำให้มีความสุข คนเราก็ย่อมจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่กามสุขเรื่อยไปโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งไม่รู้จักสอนใจตนเองได้ว่า จุดที่ “พอ” นั้นอยู่ตรง
ไหนเมื่อมุ่งหน้าแสวงหาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่วันใดวันหนึ่งก็จะต้องประสบปัญหา เพราะแต่ละคนก็มุ่งแสวงหาในสิ่งเดียวกัน จึงเกิดการเผชิญหน้ากันหรือเกิดการ
แข่งขันแย่งชิงกันขึ้น
ครั้นแล้วกิเลสกามก็จะสอนให้แต่ละฝ่ายนำกลยุทธ์ออกมาใช้ในการต่อสู้กัน ชิงชัยกันทุกรูปแบบ เพื่อความเป็นผู้ชนะ ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในโลกปัจจุบัน
นับตั้งแต่การชิงไหวชิงพริบกันในด้านเศรษฐกิจระหว่างบุคคลหรือระหว่างประเทศ การคดโกงและการแก้แค้นกัน ไปจนถึงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน เหล่านี้
ล้วนเป็นทางมาแห่งธุลีหรือกิเลสทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรื่องโทษของกามไว้มากมาย เป็นต้นว่า “กามทั้งหลายตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยี
จิตโดยรูปต่าง ๆ ”๑
จากที่ได้พรรณนามาทั้งหมดนี้ น่าจะพอเป็นแนวทาง ชี้ให้เห็นได้แล้วว่า การใช้ชีวิตแบบฆราวาสนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของกาม อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาป
อกุศลทั้งปวงส่วนชีวิตนักบวชนั้น มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
“ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย”
---------------------------------------------------------------------
๑ ขัคควิสาณสูตร ขุ. สุ. ๒๕/๒๙๖/๓๓๔