อานิสงส์การบวช กับ สามัญญผล
อานิสงส์ของการบวช
๑. ประโยชน์อานิสงส์ที่ตัวผู้ขอบรรพชาจะได้รับนี้อย่างหนึ่ง
๒. ประโยชน์อานิสงส์ที่ญาติทั้งหลายมีบิดา มารดา เป็นต้น จะได้รับ นี้อย่างหนึ่ง
๓. ประโยชน์ที่เพื่อนมนุษย์สัตวโลกทั้งหลายจะพึงได้รับ ตลอดจนศาสนาจะพึงได้รับร่วมกัน นี้อีกอย่างหนึ่ง
อานิสงส์ที่ ๑ ที่ว่า ในส่วนตัวเขานั้น ต้องได้รับอะไรใหม่เป็นของใหม่ และดีที่สุดที่เขาจะได้รับ คือให้ได้ มีการบรรพชาจริงนั่นแหละ เรียกว่าบวชจริง ให้เรียนจริง ให้ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลจริงๆ นี้เรียกว่า บรรพชาจริงๆ ได้ผลจริง ในระหว่างที่เขาบรรพชาอยู่ ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่เขาควรจะได้ คือเรื่องของพระธรรมที่ทำให้บุคคลพ้นจากความทุกข์ นี่ประโยชน์ส่วนตัวของเขา ก็มีอยู่อย่างนี้แล้วขอให้เขาได้รับ
อานิสงส์ที่ ๒ ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น จะพึงได้อานิสงส์นี้ก็เพราะลูกของเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงได้ผลจริง หรือว่าสอนผู้อื่นได้จริงด้วยก็ยิ่งดี ถ้าลูกหลานของเราบวชจริงอย่างนี้แล้ว บิดามารดาก็มีความปีติปราโมทย์ พอใจในธรรม ใน ศาสนานี้มากขึ้น การบวชของลูกจะทำให้มีอะไรๆ เกิดขึ้นหลายประการ เช่น ที่ว่า บิดามารดาจะมีศรัทธามากขึ้นมีความมั่นคงในพระศาสนามากขึ้น เรียกว่าเป็นญาติในพระศาสนามากขึ้นนั่นเอง เขาใช้คำอย่างนั้นมาแต่โบราณกาลแล้ว ที่ว่าพอลูกบวชแล้วพ่อแม่เป็นญาติในพระศาสนามากขึ้น เพราะฉะนั้นอานิสงส์ข้อนี้ได้แก่ ญาติทั้งหลาย มีบิดา มารดาเป็นต้นด้วย
อานิสงส์ที่ ๓ ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดา กระทั่งสากลจักรวาล และได้แก่ศาสนาด้วย ข้อนี้มันสัมพันธ์กันที่ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงกับศาสนานั้นสัมพันธ์กัน อยู่ ถ้าศาสนายังมีอยู่ในโลก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ปลอดภัยสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะปลอดภัย ก็เพราะมีศาสนาอยู่ในโลก ฉะนั้นเราทำศาสนาให้มีอยู่ในโลก ก็คือทำประโยชน์ให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ศาสนานี้จะมีอายุอยู่ได้ไม่สูญหายไปเสีย ก็เพราะว่า
๑. มีคนบวชคนเรียน
๒. มีคนปฏิบัติถูกต้อง
๓.มีคนได้ผลของการปฏิบัติ
ทั้งหมดนี้ที่เขาเรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นภาษาบาลี เราควรจะขอบใจคนที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เขาสืบอายุพระศาสนาไว้จนมาถึงเรา เราต้องช่วยกันสืบต่อไป บวช ๓ เดือนก็สืบ ๓ เดือน บวช ๒ เดือนก็สืบ ๒ เดือน พอเราสึกออกไป ยื่นมอบหมายให้คนอื่นต่อไปอีก อย่าให้ขาดตอนได้ ฯ
กล่าวโดยย่ออานิสงส์ของการบวชแบ่งออกได้ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ อานิสงส์หลัก ได้แก่
๑. กรณีของผู้ที่หมดกิเลส สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์คือ
ก. ทุกข์เก่าหมดไป
ข. ทุกข์ใหม่ไม่เกิดขึ้น คือ หมดกิเลส
ค. เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของมนุษย์ทั้งหลาย ที่ได้ทำบุญให้ทาน และถวายสักการะแก่ท่าน
๒. มองถึงด้านคุณธรรมในตัวของผู้บวช
ก. ทำให้ตัวเองเป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ
ข. จะได้น้ำใจงาม ที่เรียกว่า เป็นคนมีน้ำใจ
ค. เป็นผู้มีปัญญา
ประการที่ ๒ อานิสงส์พลอได้ ได้แก่
๑. อานิสงส์ที่เกิดแก่ผู้อื่น
ก. ช่วยให้บิดามารดาได้มีโอกาสใกล้ชิดพระศาสนา เช่น ได้ฟังธรรม เป็นต้น เพราะต้องไปเยี่ยมเยียนผู้บวชอยู่เสมอ
ข. แม้สึกออกไปแล้ว ลูกเมียก็เป็นสุข เพราะได้นิสัยดี ๆ ที่เกิดจากการขัดเกลาติดตัวไป เมื่อก่อนเคยขี้เหล้าเมายา เมาขึ้นมาก็อาละวาด พอบวชแล้วสึกออกไปนิสัยดีขึ้น
ค. ประเทศชาติได้พลเมืองที่ดีเพิ่มขึ้น
๒. อานิสงส์ทางธรรม เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
การบวชชั่วคราว
สำหรับนิสิต นักศึกษาที่ได้บวชในช่วงสั้น ๆ เป็นครั้งคราว ถือว่าเป็นการบวชชั่วคราว หากตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ดังนี้
๑) เป็นผู้รู้จักบริหารเวลา คือ รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ภาษาศาสนาเรียกว่า กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลอันเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของสัปบุรุษ ขณะเป็นนิสิตนักศึกษาภาระรับผิดชอบยังมีไม่มาก ความกังวลทางบ้านเรือนไม่มี หากรีบมาบวชก่อน ย่อมบรรลุธรรมได้โดยง่าย
๒) แม้ช่วงเวลาจะสั้นแต่ถ้าลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากความสงบตั้งแต่เยาว์เพราะตอนเป็นนิสิต นักศึกษา กิเลสยังไม่แก่จัด เป็นเหมือนไม้อ่อน พอดัดง่าย ครั้นบวชแล้วได้รับรสแห่งความสุขภายใน ก็จะรู้ว่าบาป บุญ นั้นมีจริง ความสุขภายในดีกว่า ก็จะไม่ติดในอามิสสุข อันเป็นสุขทางโลก
๓) มีโอกาสได้ศึกษาหลักธรรมไว้กำกับความรู้ จะได้ใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกที่ควร ดังพุทธพจน์บทหนึ่งว่า “ความรู้ทางด้านวิชาการ ที่ชาวโลกเรียน หากเกิดแก่คนพาล ไม่มีศีลธรรม ย่อมมีแต่จะนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจากไม่มีคุณธรรมกำกับ”
๔) ทำให้ได้ฝึกวินัย และเข้าใจวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่ เป็นคณะ ถ้าบวชแล้วตั้งใจฝึกฝนอบรมตนอย่างจริงจัง สึกออกไปแล้วจะเป็นคนรักวินัย คนส่วนมากมักจะไม่สังเกตทั้ง ๆ ที่มีพระเป็นตัวอย่างทางวินัยให้ดู เข้าขึ้นก็เดินออกไปบิณฑบาตกันเป็นแถว สวดมนต์หรือฟังเทศน์ท่านก็นั่งเป็นแถว เพราะฉะนั้นคนที่เคยบวชแล้วความมีวินัยก็จะติดเป็นนิสัยไปด้วย
๕) ทำให้ได้ฝึกสมาธิ ทำจิตให้สงบ ซึ่งเป็นผลดีต่อการศึกษาต่อไปภายหน้า
๖) เกิดความปลื้มปีติยินดี ที่ได้ทำความดีไว้แล้วตั้งแต่ยังเยาว์ ปีตินี้จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจอยู่เสมอ ถึงคราวจะตายก็ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง คนหนุ่มคนสาวมักมองโลกไปข้างหน้า คิดสร้างอนาคตอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนคนเฒ่าคนแก่จะเหลียวมองข้างหลัง คือถ้าเหลียวหลังไปดู เราได้ทำความดีอย่างนั้น ๆ นึกแล้วก็ชื่นใจ แต่ถ้าแก่แล้ว เหลียวหลังไปดู หาดีไม่ได้ ก็จะได้ความเหี่ยวใจเป็นเครื่องตอบแทน ตอนใกล้ตาย ก็จะตายแบบใจเหี่ยว ตรงกันข้าม ถ้าเคยบวช เคยทำความดีมาก่อนก็จะปลื้มปีตีได้ทำความดีไว้ แม้จะตายก็ตายดี ตายอย่างคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่ามาแล้ว
๗) ทำให้รู้จักเป้าหมายของชีวิตที่แท้จริงว่า เกิดมาทำไม เพราะฝึกแล้วรู้ว่า ทำให้กิเลสหมดไปได้ เกิดเป็นความสุขภายในขึ้นมาตามลำดับ จะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองได้อย่างถูกต้อง
๘) ทำให้มีความอดทน ไม่หวั่นไหวในอุปสรรค ตลอดเวลาที่บวชอยู่ สะสมอาหารไว้ไม่ได้ พรุ่งนี้เช้าจะมีฉันหรือไม่ ไม่รู้ ไม่ใช่ว่าออกบิณฑบาตแล้ว จะได้กลับมาฉันทุกวัน บางวันก็ไม่ได้ ยิ่งไปต่างจังหวัดจะเห็นชัด บางจังหวัดไปแล้วรักน้ำใจพระบางองค์ ไปเยี่ยมวัดท่านตอนใกล้เพล ถึงปั๊บท่านก็นิมนต์ เดี๋ยวฉันด้วยกันนะ ท่านยกข้าวปลาอาหารที่บิณฑบาตตอนเช้า มีเหลือถึงตอนเพล เหลือบไปดู ท่าน ๓ องค์มีปลาทูอยู่ซีกเดียว แล้วยังนิมนต์อาตมให้ฉันอีกองค์หนึ่ง ครั้นเรามองไปที่ฝา ท่านยังบอกต่อไม่เป็นไรน้ำปลาเรายังมีอีกตั้งขวดเบ้อเร่อ นอกจากนี้ยิ่งไปนอนในกลด อยู่โคนไม้มาด้วย ได้ผ่านชีวิตอย่างนี้แล้ว ต่อไปจะมีแต่ความอดทน ไม่กลัวอุปสรรค ประเภทที่เคยหยิบโหย่งมาเท่าไร ๆ นอนห้องแอร์มาเท่าไร ๆ มาเจอฉันในบาตร ปักกลดอยู่ตามโคนไม้ โรคสำออยหายเป็นปลิดทิ้ง ขืนทำสำออยอยู่ มากหามตาย นี่ได้อย่างนี้
๙) ทำให้รู้จักตนเอง คือ รู้ว่าตันเองมีความรู้ ความสามารถมีคุณธรรมแค่ไหน เพียงใดเมื่อก่อนเราก็ว่าเราเก่ง แต่พอมาบวชแล้วได้ฝึกตน รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว ความสามารถแค่ไหน แต่เราได้พัฒนาปรับปรุงตัวเองขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง อย่างภาษิตจีนว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำให้เราประมาณฝีมือหรือความสามารถของตัวเองได้ กลายเป็นผู้รู้จักประมาณตน ซึ่งการที่จะรู้จักตัวเองนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การรู้จักคนอื่นนั้นง่าย คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ วิจารณ์ได้สารพัด แต่ตัวเองเป็นอย่างไร ดูทีไรก็ดีทุกที หลังจากบวชแล้ว เจอวินัย เจอกิจวัตร จึงรู้ว่า แต่ก่อนนึกว่าเราเก่งไม่เบา ทีไหนได้ไม่ได้เรื่องเลย
๑๐) ทำให้เป็นคนมีเหตุผล
๑๑) ได้ชื่อว่าได้ชำระโทษทางกาย วาจา ใจ ให้สิ้นไป เพราะ ศีล เป็นเครื่องชำระโทษทางกาย วาจา สมาธิ เป็นเครื่องชำระโทษทางใจ ปัญญาชำระโทษทางสันดาน ให้เป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ
๑๒) ได้ชื่อว่า “ปฏิบัติบูชา” ซึ่งเป็นการบูชาอันสูงสุด แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม
๑๓) ทำให้มีโอกาสเอาชนะกิเลสได้ระยะหนึ่ง จึงมีเชื้อสายแห่งความเป็นผู้ชนะ คนเราเมื่อมีเชื้อแห่งความชนะแล้ว ต่อไปเห็นอะไรก็ไม่ท้อเพียรจนสำเร็จได้ การปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเคร่งครัด จนสามารถเอาชนะกิเลสได้ในการบวชระยะสั้น ๆ นั้น ย่อมเกดกำลังใจว่า เราก็มีฝีมือ ฉะนั้น การดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั้น แม้จะยากยิ่งแต่ก็มิใช่สิ่งที่เหลือวิสัย ใจสู้ขึ้นมาเมื่อไหร่ หนทางข้างหน้าก็ไปได้ไม่ยาก
๑๔) ทำให้แสวงหาความสุขได้มากที่สุด เท่ามี่มนุษย์จะพึงมีได้
๑๕) ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีกำไรชีวิตแล้ว เพราะได้กระทำกรรมที่บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ
๑๖) ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มถางทางไปพระนิพพานแล้วส่วนจะได้เท่าไหร่นั้น ไม่ต้องห่วง เพราะเมื่อได้เริ่มต้นหนึ่งแล้ว สอง สาม สี่ ห้า ... ก็จะตามมาเอง แต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มก็ยังอยู่ที่ศูนย์นั้นแหละ ตายเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง นี่คืออานิสงส์โดยย่อของการบวชชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะปล่อยให้เด็กในปกครองของท่านไปหลงอยู่กับความเพลิดเพลินทางโลกหรือติดอบายมุขนานาชนิด ท่านที่เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรรีบสนับสนุนเขา ให้ได้มาบวชในพระบวรพระพุทธศาสนา ทั้งนี้นอกจากท่านจะได้ชื่อว่า เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันไพบูลย์ยิ่งยืนนาน สัมดังพระพุทธดำรัสที่ว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ ให้ถึงทีสุดแห่งทุกข์เถิด”
สามัญญผล
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามพระพุทธเจ้าว่า : "บุคคลในโลกนี้เขามีอาชีพแตกต่างกัน เป็นทหาร เป็นข้าราชการ เป็นคหบดี มีอาชีพเป็นช่างต่างๆเป็นชาวนา เป็นชาวไร่ ชาวสวน หรืออาชีพช่างไม้ต่างๆบุคคลที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ เมื่อประกอบอาชีพแล้วก็สามารถจะสร้างตัวได้ เลี้ยงตัวได้ในปัจจุบัน แล้วก็มีเงินทองเลี้ยงดูบุตรภรรยาของตน และก็ทำบุญทำทาน ก็มีโอกาสไปเกิดบนสวรรค์ อยากจะถามว่า ในพระพุทธศาสนานี้ พระองค์ตรัสความเป็นสามัญผล คือ ผลที่จะได้จากการบวชของกุลบุตรในศาสนานี้ไว้อย่างไรบ้าง"พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า : "ผู้ที่บวชเข้ามาในศาสนานี้ย่อมได้อานิสงส์ถึง ๑๔ ประการ" สามัญญผล ๓ หมวด สามัญญผล หรือ ผลของความเป็นสมณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ สามารถจัดออกได้เป็น ๓ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือ พ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร เป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติดีแม้จากพระมหากษัตริย์ นี้ คือ ผลข้อที ๑ และข้อที่ ๒
หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจเป็นสมาธิ เป็นเหตุให้ได้ฌานที่ ๑ ถึงที่๔ อันทำให้กิเลสอย่างกลางสงบลงได้ คือ ผลข้อที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖
หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ เริ่มตั้งแต่ข้อที่ ๗ คือ ได้วิปัสสนาญาน จนถึงข้อที่ ๑๔ คือ อาสวักขยญาณ
พระพุทธองค์ตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า : "ก็คนที่เป็นทาสกรรมกรของพระองค์ เคยรับใช้พระองค์อยู่ ตื่นก่อนนอนทีหลังทาสกรรมกรเหล่านั้นมาพิจารณาว่า พระมหากษัตริย์เจ้านายของเรานี้ทรงมีบุญญาธิการ มีบุคคลแวดล้อม มีทรัพย์สินนานัปการ มีอำนาจยิ่งใหญ่ พระองค์ก็เป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องออกบวชเสียดีกว่า เมื่อออกบวชแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ ต่อมาพระองค์ได้พบทาสกรรมกรของพระองค์นั้น พระองค์จะเรียกบุคคลนั้นให้มาทำงานรับใช้พระองค์ ให้ตื่นก่อนนอนทีหลังอีกหรือเปล่า "พระเจ้าอชาตศัตรูทูลตอบว่า :"ไม่อย่างนั้น แต่ข้าพระองค์จะเคารพกราบไหว้ผู้นั้น ให้ความคุ้มครองตามธรรม"พระพุทธองค์ตรัสว่า : นี่แหละคืออานิสงส์ของการบวชข้อที่ ๑ ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน
ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า : "มีคนที่ทำนาของพระองค์ มาพิจารณาว่า พระเจ้าแผ่นดินของเรามีอำนาจวาสนามีบุญใหญ่ พระองค์ก็เป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ ไฉนหนอ เราจึงจะได้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ และในที่สุด ท่านผู้นั้นก็ได้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อพระองค์ทรงพบภิกษุที่เคยเป็นชาวนานั้นเข้า จะตรัสเรียกท่านผู้นั้นให้มาทำนาให้แก่พระองค์อีกหรือ ?"พระเจ้าอชาตศัตรูทูลตอบว่า"ไม่อย่างนั้น แต่ข้าพระองค์จะเคารพกราบไหว้ ให้ความคุ้มครอง ถวายปัจจัย ๔ ให้การคุ้มครองด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้นั้น"พระพุทธองค์ตรัสว่า : นี่เป็นสามัญญผล คือ ผลที่เห็นได้ชัดจากการบวชข้อที่ ๒
พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า : คหบดีหรือ กุลบุตรในแว่นแคว้นของพระองค์นี้ มาพิจารณาเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินของเรานั้นเพียบพร้อมไปด้วยความสุข มีความรุ่งเรือง ก็เรานี้เห็นว่าการครองเรือนเต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นที่คับแคบ ส่วนบรรพชาเป็นช่องว่าง การที่อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สะอาดดุจดั่งสังข์ขัดนั้นทำได้ยาก เพราะฉะนั้น เขาจึงออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ สมบูรณ์ไปด้วยศีลคือ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล (คือ ศีลขนาดเล็ก ขนาดกลาง และศีลมาก) ต่อจากนั้นภิกษุนั้นสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะ ละบาปอกุศล มีสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละนิวรณ์ ๕ ได้ ในที่สุดก็ได้บรรลุฌานที่ ๑ ได้ประสบความสุขอันเกิดจากฌานนี้ คืออานิสงส์ของการบวช หรือสามัญญผล ข้อที่ ๓ต่อจากนั้น ท่านผู้นั้นก็บำเพ็ญสมาธิจนบรรลุฌานที่ ๒ ก็เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔บรรลุฌานที่ ๓ ก็เป็นอานิสงสข้อที่ ๕บรรลุฌานที่ ๔ ก็เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๖ต่อจากนั้น ท่านก็น้อมจิตไปเพื่อเจริญวิปัสสนา
โดยพิจารณาพระไตรลักษณ์ จนจิตของตนเข้าถึงวิปัสนาญาน แยกรูปแยกนาม พิจารณานามรูป เห็นตามความเป็นจริง ก็เป็นเหตุให้ท่านผู้นั้นสามารถบรรลุญาณทัสสนะ อันเป็นวิปัสสนาญาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า : นี้คือ อานิสงส์ของการบวชข้อที่ ๗ต่อจากนั้น ก็สามารถบรรลุ มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์ทางใจ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ได้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๘ ต่อจากนั้น ก็ได้บรรลุ อิทธิวิธิ คือ แสดงฤทธิ์ เช่น น้อยคนทำให้เป้นมากคน ดำไปในดิน ดำไปในน้ำได้ก็เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๙เมื่อปฏิบัติต่อไป ก็สามารถได้ ทิพโสต คือ หูทิพย์ ได้ยินเสียงจากที่ไกลเกินวิสัยของหูมนุษย์ธรรมดาเป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑o เมื่อปฏิบัติต่อไป ก็สามารถได้ เจโตปริยญาน คือ รู้ใจคนอื่น คือ สามารถทายใจคนอื่นได้ (แม้ในปัจจุบันก็มีพระบางรูปที่สามารถรู้ใจคนอื่นได้ เรียกว่า เจโตปริยญาน) การได้เจโตปริยญาณเป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๑ บางท่านก็ระลึกชาติได้ ที่เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสสติญาน คือ ระลึกชาติหนหลังได้เป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นจำนวนหลายๆชาติ หรือชาติจำนวนมากที่ผ่านมาในอดีต
การระลึกชาติหนหลังได้นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๒ บางท่านก็ได้ทิพจักษุ หรือ จุตูปปาตญาณ คือ ญาณรู้จุติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย คือ สามารถรู้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่เกิดและที่ตายด้วยตาทิพย์ การได้ทิพจักษุนี้ เป็นอานิสงส์ของการบวชข้อที่ ๑๓ ในที่สุดก็ได้บรรลุอาสวักขยญาณ คือ ทำกิเลสให้สิ้นไป ก็เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑๔พระพุทธองค์ทรงสรุป ในที่สุดแห่งทุกข้อว่า เป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันว่าสูงกว่ากันไปตามลำดับ คือ ตั้งแต่ขั้นแรกแล้วบรรลุสูงขึ้นๆ ไปตามลำดับ ซึ่งเป็นอานิสงส์ของการบวช ที่เห็นได้ชัดเช่น ผู้ที่ได้บรรลุฌานที่ ๒ ก็ประเสริฐกว่าฌานที่ ๑ ได้บรรลุฌานที่ ๓ ประเสริฐกว่าฌานที่ ๒ ได้บรรลุฌานที่ ๔ ประเสริฐกว่าฌานที่ ๓ และการบรรลุต่อๆ ไปก็สูงขึ้น ตามลำดับ
วิชชา ๘ คืออะไร?
วิชชา ๘ ก็คือ
๑) วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา
๒) มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ
๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้
๔) ทิพโสต หูทิพย์
๕) เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น
๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๗) ทิพยจักขุ ตาทิพย์
๘) อาสวักขยญาณ ทำอาสวะ คือ กิเลสให้สิ้นไปได้