• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ความหมายพระวินัย

         วินัย แปลว่า การกำจัด, การเลิกละ, ข้อนำไปให้วิเศษ, ข้อนำไปให้แจ้ง, ข้อนำไปให้ต่าง

มีอธิบายตามลำดับความหมายนั้นว่า

         การกำจัด หมายถึง เป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดอาสวกิเลส เพราะเป็นข้อสำหรับฝึกหัดพัฒนากายกับวาจาให้สงบเย็น เรียบร้อย

         การเลิกละ หมายถึง วิธีการฝึกหัดอบรมเพื่อเลิกละอัชฌาจารคือความประพฤติชั่ว ความประพฤติเสียมารยาท ความประพฤติไม่เหมาะสมแก่สมณะ เมื่อปฏิบัติตามวินัยย่อมเลิกละอัชฌาจารนั้นๆ ได้

         ข้อนำไปให้วิเศษ หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นบาทฐานนำผู้ปฏิบัติให้บรรลุคุณวิเศษสูงขึ้นไปตามลำดับ

         ข้อนำไปให้แจ้ง หมายถึงข้อปฏิบัติที่เป็นบาทฐานนำผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความแจ่มแจ้งในธรรม มองเห็นธรรมได้ง่าย เหมือนลมที่กำจัดเมฆหมอกไปหมดสิ้นแล้วทำให้เห็นท้องฟ้าได้แจ่มแจ้งฉะนั้น

         ข้อนำไปให้ต่าง หมายถึงข้อปฏิบัติที่นำให้ผู้ปฏิบัติแตกต่างไปจากคนทั่วไป โดยให้สงบเย็น เรียบร้อยและบรรลุถึงคุณวิเศษระดับต่างๆ มีโสดาปัตติผล เป็นต้น


อนึ่ง ท่านให้ความหมายคำว่า วินัย ไว้ว่า

         ๑. ชื่อว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ โดยแบ่งเป็นปาติโมกขุทเทส กองอาบัติมาติกา วิภังค์เป็นต้น (วิวิธนยตฺตา)

         ๒. ชื่อว่า วินัย เพราะมีนัยพิเศษ โดยมีอนุบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อให้มูลบัญญัติหรือบทบัญญัติครั้งแรกรัดกุมครอบคลุมความผิดมากขึ้น หรือผ่อนผันคลายความเข้มงวดลง (วิเสสนยตฺตา)

         ๓. ชื่อว่า วินัย เพราะนำกายวาจาให้ถึงความพิเศษแตกต่าง เหตุป้องกันอัชฌาจารทางกายวาจาไว้ได้(กายวาจานํ จวินยนฺโต)

         โดยภาพรวม คำว่า วินัย หมายถึงคำสั่งสอนส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่เนื่องด้วยข้อบัญญัสำหรับเป็นหลักปฏิบัติของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์เรียกโดยทั่วไปว่า พระวินัย ซึ่งหมายความว่า

          “ระเบียบสำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นระเบียบเดียวกัน ได้แก่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นข้อบัญญัติ เป็นข้อห้าม วางไว้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิด ความสงบเรียบร้อยดีงามในหมู่คณะ เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารหมู่คณะ”

 

แนวทางการสร้างสันติภาพในพระวินัย

          สันติภาพ หมายถึง ความสงบ ความสงบสุข แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

          ๑. สันติภายใน คือ ความสงบกาย วาจา ใจ ของแต่ละบุคคล

          ๒. สันติภายนอก คือ ความสงบกาย วาจา ใจ ของคนอื่น ของสังคม
พระวินัย เป็นทั้งระเบียบปฏิบัติเพื่อให้เกิดสันติภาพทั้งสองประเภทและมีบทลงโทษเพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดพระวินัย เพื่อป้องกันการวิวาทขัดแย้งเมื่อต่างความเห็นกัน

          พระวินัย จัดเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นอันจะนำให้เข้าถึงสันติภาพได้อย่างแท้จริง เพราะทั้งตนเองและผู้อื่นต่างก็อยู่ในระเบียบปฏิบัติที่ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเป็นปกติ

          พระวินัย ส่วนหนึ่งเป็นศีล โดยเป็นศีลของภิกษุและภิกษุณีจัดเป็น สีลสิกขา และมีข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุและภิกษุณีอื่นๆ อีกแนวทางที่จะสร้างสันติภาพได้นั้นจำต้องปฏิบัติตามพระวินัยโดยทั่วถึงและเป็นปกติในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ทั้งปวงมีระเบียบปฏิบัติรักษา

          พระวินัย ในส่วนของพระปาติโมกข์คือศีลของภิกษุ โดยการประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน ในท้ายพระปาติโมกข์นั้นได้สำแดงข้อความไว้ว่า

          “ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ”

         ซึ่งแปลได้ใจความว่า

          อันภิกษุทั้งปวงแล พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชอบพอกันไม่วิวาทกัน ศึกษาในสัตถุพจน์อันเป็นหลักสูตรนั้น

         พระสงฆ์ที่อยู่กันอย่างสันติสุขสงบ มีความพร้อมเพรียงกัน ชอบพอกัน และไม่วิวาทกัน รักษาพระศาสนามาได้แต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะต่างก็ปฏิบัติตามพระวินัยด้วยตนเอง ทำ ให้เกิดสันติภายใน และช่วยกันดูแลให้ผู้อื่นให้เกิดสันติภายนอกด้วย จึงทำให้เกิดสันติภาพในหมู่คณะ

         นั่นเป็นการแสดงยืนยันให้เห็นว่า พระวินัยสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

พระวินัยปิฎกเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ง่าย

          พระวินัยปิฎก คือ ที่รวมพระพุทธพจน์หรือกลุ่มแห่งคัมภีร์อันเป็นพระพุทธพจน์ที่เป็นข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติมารยาท ความเป็นอยู่ตลอดถึงธรรมเนียมปฏิบัติและการทำกิจกรรมของสงฆ์ที่เรียกรวมๆ ว่า วินัยบัญญัติ อภิสมาจาริกวัตร สังฆกรรม อันเป็นข้อที่พึงเว้นบ้าง พึงปฏิบัติตามเพื่อความสง่างามและความเรียบร้อยดีงามของสังฆมณฑลบ้าง

         พระวินัยปิฎกจึงจัดว่าเป็นต้นแบบแห่งการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่สุด เมื่อมีการปฏิบัติตามพระวินัยที่รวมอยู่ในพระวินัยปิฎกด้วยการประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาธรรมเนียมปฏิบัติและสังฆกรรม ตามที่ทรงบัญญัติกำหนดไว้ก็จะทำให้เกิดภาพที่สวยงามของผู้ปฏิบัตินำให้เกิดความน่าศรัทธาเลื่อมใส น่าเคารพกราบไหว้และน่าบูชาด้วยอามิสที่สามารถให้ดำรงชีพอยู่ได้จากคฤหัสถ์เพราะเมื่อมีผู้ปฏิบัติตามพระวินัยข้อนั้นข้อนี้หรือละเว้นไม่ล่วงละเมิดข้อนั้น ข้อนี้ ภาพที่สวยงามของผู้ปฏิบัติก็จะปรากฏให้เห็นทันที ไม่ต้องรอเวลา ไม่ต้องบ่มเพาะ ไม่ต้องมีเงื่อนไขอย่างอื่น เห็นเมื่อใดก็เป็นเครื่องหมายให้รู้และได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าผู้นั้นปฏิบัติตามพระวินัย

         ส่วนคำสอนที่เป็นธรรม คือที่เป็นพระสุตตันปิฎกและอภิธรรมปิฎกนั้นค่อนข้างเป็นนามธรรม แม้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญ แต่จำต้องอาศัยเวลา อาศัยการบ่มเพาะอาศัยเงื่อนไขอื่นประกอบ ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ค่อนข้างยากเช่น ความซื่อสัตย์ความกตัญญูความจริงใจความมีสติเหล่านี้เมื่อเห็นหน้าบุคคลแล้ว ก็ไม่อาจรู้ได้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์เป็นคนกตัญญูหรือไม่ กว่าจะรู้ได้แน่แท้อาจต้องใช้เวลานาน และข้อธรรมแต่ละอย่างนั้นจำต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะในการปฏิบัติยาวนานกว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้

          เพราะฉะนั้น พระวินัยปิฎกในภาพรวมท่านจึงให้ความสำคัญและแสดงไว้ว่าเป็นชีวิตของพระพุทธศาสนา เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา.

 

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล