• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ไตรสิกขา

          สิกขาแปลว่า การศึกษา, การเล่าเรียน ในที่นี้หมายถึงข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ มี ๓ ประการ จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

          ไตรสิกขา เป็นข้อที่ท่านกำหนดไว้สำหรับศึกษาเรียนรู้สำหรับปฏิบัติ คล้ายเป็นหลักสูตรเพื่อเรียนรู้พระพุทธศาสนาสำหรับบรรพชิตคือภิกษุสามเณร และพุทธสาวกทั้งหลายเมื่อเรียนรู้และปฏิบัติตามได้แล้วย่อมได้รับอานิสงส์ได้รับความเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ จนถึงสามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้

          สิกขา ๓ ประการ อันเป็นระดับเบื้องต้นที่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติตามได้ทั่วไปนั้น คือ

           ๑. ศีล

           ๒. สมาธิ

           ๓. ปัญญา

           ศีล คือ ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย การรักษากายวาจาให้อยู่ในสภาวะปกติธรรมดา ไม่ใช้กายวาจาไปทำชั่วพูดชั่วก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น การทำกิจทำหน้าที่ประจำวันอย่างปกติธรรมดาการดำรงอยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในสังคมอย่างปกติโดยการรักษากาย และวาจามั่นคงอยู่ในสุจริตธรรม เช่น รักษาและปฏิบัติตามหลักศีล ๕ เป็นต้น

          สมาธิ คือ ความรักษาใจมั่น การรักษาใจให้สงบนิ่ง ไม่ให้ฟุ้งซ่านระงับใจได้ควบคุมใจได้บรรเทาความเครียดได้

          ปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร การเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของร่างกายว่าตกอยู่ในสามัญลักษณะคือเป็นไปเสมอเหมือนกันหมดเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติคือ

                 - อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

                 - ทุกขัง ไม่ทนอยู่ในสภาพเดิม ไม่หยุดนิ่ง ไม่คงที่

                 - อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน หาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ไม่อาจบังคับได้

          ไตรสิกขาเช่นนี้เป็นไตรสิกขาระดับต้น ระดับฐานรากอันเป็นพื้นฐานสำหรับดำเนินชีวิตไปตามปกติธรรมดา เพื่อให้เกิดความสุข ความสงบเย็นไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน และมีความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น

           เมื่อสามารถปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาเบื้องต้นอย่างนี้ได้ ก็จะสุขสงบ ไม่ก่อเวรภัย ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย จิตใจก็จะเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ มองเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างชัดเจน

           ไตรสิกขา อีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับสูงนั้น เป็นระดับปฏิบัติของภิกษุผู้สละเครือญาติสละสมบัติและความสุขในเพศคฤหัสถ์แล้วออกบวชเพื่อบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ไตรสิกขาระดับนี้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า

           ๑. อธิสีลสิกขา

           ๒. อธิจิตตสิกขา

           ๓. อธิปัญญาสิกขา

          ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหลายพระสูตรเช่น สามัญญผลสูตรสุภสูตรได้อธิบายความเรื่องไตรสิกขาไว้อย่างละเอียด เข้าใจได้ง่าย เป็นไปตามลำดับกล่าวโดยสรุปได้ว่า

           อธิสีลสิกขา คือการปฏิบัติมั่นอยู่ในศีลขันธ์(จุฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล) เป็นผู้มีอินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์(ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นผู้
ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะและเป็นผู้สันโดษในปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น อันเป็นอริยะ แล้วเสพเสนาสนะอันสงัดเช่น ป่า โคนไม้ภูเขาซอกเขา เป็นต้น บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป

           อธิจิตตสิกขา คือ การบำเพ็ญเพียรทำสมาธิเพื่อให้ใจหยุดนิ่ง หลังจากปฏิบัติมั่นอยู่ในอธิสีลสิกขาแล้ว โดยนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า นิ่งแน่วอยู่จนกระทั่งละนิวรณ์๕ ได้คือ

                 - กามฉันท์ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น

                 - พยาบาท ความปองร้ายผู้อื่น

                 - ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม

                 - อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ

                 - วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงได้

           เมื่อพิจารณาเห็นนิวรณ์๕ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติเมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เมื่อกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่น ย่อมสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม แล้วได้บรรลุฌานสูงขึ้นไปตามลำดับ จากปฐมฌานถึงจตุตถฌาน

         อธิปัญญาสิกขา คือ การที่เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว หลังจากได้บรรลุฌานแล้วอย่างนี้ย่อมโน้มจิตใจไปเพื่อญาณทัสสนะ จากนั้นก็จะได้บรรลุถึงวิชชาหรือญาณไปตามลำดับ คือ วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพยโสตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ

 

หน้าที่และความสำคัญของไตรสิกขา

          ไตรสิกขานี้แต่ละอย่างต่างทำหน้าที่ต่างกัน แต่สอดคล้องกันโดยตลอด คือ

           ศีล มีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างหยาบ ที่เกิดขึ้นทางกายและทาง

           วาจา และมีหน้าที่ในการป้องกันวีติกกมโทษ คือโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิด

           สมาธิ มีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างกลางอันทำให้เกิดความกลุ้มรุมใจ และมีหน้าที่ปราบปริยุฏฐานกิเลส คือความกลุ้มรุมใจ

           ปัญญา มีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน และมีหน้าที่ปราบอนุสัย คือกิเลสที่ฝังอยู่ในสันดาน

           พระวินัยหรือศีลทุกประเภทจัดเป็นสีลสิกขาในระดับต้น ทั้งศีลของภิกษุ ๒๒๗ สิกขาบท ศีลของภิกษุณี ๓๑๑ สิกขาบท ศีลของสามเณร ๑๐ สิกขาบท และศีล ๕ ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา

 

          ด้วยเหตุที่ไตรสิกขามีความสำคัญดังกล่าวมานี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา จะต้องศึกษาเล่าเรียน จะต้องสำเหนียกรู้และ เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อรักษาตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในสีลสิกขาเป็นพื้นฐานเพื่อให้มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย เพื่อมีปัญญาเห็นจริงในไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะในตน และเพื่อประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องอันเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงอยู่ต่อไปตลอดกาลนาน

 

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล