• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

 สามัญญผลลำดับที่ ๑

 

 

 

      หลังจากบรรลุฌาน ๔ แล้ว ถ้าผู้เจริญภาวนายังสามารถประคองใจเป็นสมาธินิ่งแน่วแน่ต่อไปอีก ใจย่อมบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ผ่องแผ้ว สุกสว่างยิ่งขึ้น ปราศจากกิเลสและอุปกิเลส๑ จึงตั้งหมั่นไม่หวั่นไหว เป็นใจที่ละเอียดอ่อน จนสามารถบรรลุญาณระดับต้น หรือที่เรียกว่า “ญาณทัสสนะ” บังเกิดความรู้ขึ้นในจิตใจตนเองโดยอัตโนมัติว่า กายของคนเราซึ่งเกิดจากมารดาและบิดานี้ ประกอบด้วยรูปและวิญญาณ รูปคือร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยมหาภูต ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ส่วนวิญญาณนั้นหมายถึงใจนั่นเอง

 

        กายมนุษย์ที่เกิดแต่มารดาบิดานี้ ย่อมเจริญเติบโตขึ้นได้ด้วยอาหาร และเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ มีการเจ็บไข้ได้ป่วยและแก่ชรา แม้จะระวังรักษาสุขภาพให้ดีเพียงใด ในที่สุดก็จะต้องจบชีวิตลงจนได้ ซึ่งทำให้รูปและวิญญาณแยกออกจากกันไปคนละทาง เหล่านี้เป็นธรรมดาโลก ดังที่สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

 

      “ภิกษุ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันแตกทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้...มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ”๒  

  

 

      จากพุทธดำรัสนี้ จะเห็นว่าสามัญญผลที่ผู้เจริญภาวนาจะพึงบรรลุต่อจากฌาน ๔ ก็คือ “ญาณทัสสนะ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิปัสสนาญาณ” เป็นญาณตามเห็นความเกิดและความดับของร่างกายตนเองทำให้มองเห็นว่าร่างกายของเรานี้น่ากลัวมีแต่โทษ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย ปรารถนาจะละทิ้งกายตนเองเสีย ขณะเดียวกันก็คิดพิจารณาหาทางที่จะละทิ้งกายตน ครั้นแล้วก็เกิดความวางเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อร่างกายตน ญาณในระดับนี้ย่อมนำไปสู่การหยั่งรู้ อริยสัจ ๔ (ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์)

 

 

       “ญาณทัสสนะ” หรือ “วิปัสสนาญาณ” นี้ เป็นญาณที่จะพยุงจิตของผู้บรรลุธรรมกายเบื้องต้น หรืออธรรมกายโคตรภู๓ ขึ้นไปสู่ธรรมกายพระโสดา เป็นอริยบุคคลระดับต้นคือพระโสดาบัน ดังนั้นจึงกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่บรรลุ “ญาณทัสสนะ” หรือ “วิปัสสนาญาณ” ก็คือผู้บรรลุธรรมกายโคตรภูนั่นเอง

 

 

------------------------------------------------------------------------------------------------

 

๑   อุปกิเลส คือ สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก มี ๑๖ อย่างคือ

 

     ๑. อภิชฌา วิสมโลภะ ละโมบ จ้องจะเอาไม่เลือก           ๒.โทสะ คิดประทุษร้าย                ๓. โกธะ โกรธ              ๔. อุปนาหะ ผูกโกรธไว้

     ๕.มักขะ ลบหลู่คุณท่าน                                           ๖. ปลาสะ ตีเสมอ ๗.อิสสา ริษยา   ๘.มัจฉริยะ ตระหนี่         ๙. มายา เจ้าเล่ห์  

     ๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด                                              ๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ                        ๑๒. สารัมภะ แข่งดี        ๑๓. มานะ ถือตัว

     ๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน                                          ๑๕. มทะ มัวเมา                         ๑๖. ปมาทะ เลินเล่อหรือละเลย

 

๒  สามัญญผลสูตร ที.สี ๙/๑๓๑/๑๐๑

 

๓  ธรรมกาย มีหลายระดับ  ธรรมกายเบื้องต้น เรียกว่า ธรรมกายโคตรภู

     

    เป็นรอยต่อระหว่าง โลกิยภูมิและโลกุตตรภูมิ ผู้เข้าถึงธรรมกายโคตรภูแล้ว หากประมาทพลาดพลั้ง ไม่หมั่นฝึกฝน อบรมจิตจนมีความละเอียดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น  สามารถตัดสังโยชน์ไปได้ตามลำดับ ก็จะเข้าถึงธรรมกายอริยบุคคล ตั้งแต่ธรรมกายโลก ธรรมกายสกทาคามีธรรมกายอนาคามี และธรรมกายอรหัต หมดกิเลสได้ในที่สุด

 

 

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล