ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

580522_01.jpg - 46.04 kb

         สามัญญผลเบื้องกลาง คือ อานิสงส์หรือผลดีที่ภิกษุได้รับจากการเจริญภาวนา เมื่อภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้สงบทั้งกาย วาจา และใจ อย่างแท้จริง ครั้นเมื่อเจริญภาวนาย่อมบรรลุฌานไปตามลำดับ ๆ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

        “ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย สังวร สติ สัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว  ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลัง เธอกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว นั่งสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลกมีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือ  พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่  ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง  มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ อยู่ ณ ภายใน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้...

 

        มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลอันกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการ ที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน  เหมือนภูมิสถานอันเกษมฉันนั้นแล...

 

        เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม”๑

 

 

๑ สามัญญผลสูตร ที. สี. ๙/๑๒๕-๑๒๗/๙๕-๙๘

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล