• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

๖. เป็นผู้สันโดษ

 580522_02.jpg - 97.05 kb

      เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสติสัมปชัญญะแก่พระเจ้าอชาตศัตรูจบลงแล้ว จึงทรงแสดงสันโดษต่อไปว่า  “มหาบพิตรอย่างไรภิกษุ จึงชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ”

ตรัสดังนี้แล้ว จึงได้ทรงวิสัชนาด้วยพระองค์เองว่า

        “ มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้องเธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง มหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น และเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิสาภาคใด ๆ ก็ถือไปได้เอง มหาบพิตรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ”๑ 

 

      “สันโดษ” คือ ความยินดีในของของตน พอใจด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่นอน ที่นั่ง และยาตามมีตามได้ การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร

 

 มีธรรมอยู่ ๒ ข้อ คือ “สันโดษ” (ความยินดีในของของตน) กับ “อัปปิจฉา” (ความมักน้อย)

      ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจสับสนกันอยู่ จึงเอาธรรม ๒ ข้อนี้ไปรวมกัน ค่อยชอบพูดว่า“สันโดษมักน้อย” เลยทำให้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า สันโดษคือความมักน้อย เกิดความเข้าใจว่า ธรรมข้อนี้สอนให้คนเราอยากมีอะไรน้อยๆ และยินดีตามที่ตนมีตนได้ ได้อย่างไรก็พอใจอยู่แค่นั้น เมื่อเกิดความเข้าใจอย่างนี้แล้วก็มักคิดเลยเถิดไปว่า ธรรมข้อนี้เป็นเครื่องถ่วงความเจริญก้าวหน้าของตนและประเทศชาติ บางคนยังเกิดความเข้าใจวิปลาสออกไปถึงขนาดกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน

 

ความจริงธรรม ๒ ข้อนี้ มีความหมายตามหลักพระพุทธศาสนา ดังนี้

                                            “สันโดษ”     คือ ความยินดี พอใจในของที่ตนมี

                                            “อัปปิจฉา”   คือ ความมักน้อย

 

      ถ้ามีคำถามว่า การที่พ่อแม่รักลูก พอใจในลูกของตนนั้นเป็นสิ่งที่ดีไหม การที่สามีพอใจในภรรยาของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม ภิกษุรักวัดของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม พลเมืองรักชาติบ้านเมืองของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม คำตอบก็ค่อยเป็นสิ่งที่ดี  ผู้ที่มีความพอใจในของของตน ก็คือผู้มีสันโดษซึ่งสำนวนในพระพุทธศาสนาท่านใช้ว่า “ยินดีในของที่ตนมี”

 

      เมื่อเราพอใจในบุคคลหรือสถาบันใดๆ แล้ว เราย่อมป้องกันรักษา ทำนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สันโดษทำให้เจริญ ในทางตรงกันข้ามความไม่สันโดษย่อมทำให้เสิ่อม เช่น ชายที่มีภรรยาแล้วก็ไม่พอใจในภรรยาตน กลับไปรักหญิงอื่นหรือภรรยาคนอื่น หรือ

 

      ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนตำแหน่งหน้าที่การงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าขาดสันโดษก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือการรับสินบนได้ ทั้งนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราไม่คิดปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้า แต่ทรงสอนให้เราพอใจตามมีตามได้และแสวงหาโดยสุจริตเท่านั้น

 

      พระพุทธศาสนาได้จัด “สันโดษ” เป็นนาถกรณธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่งด้วยข้อหนึ่ง เพราะเป็นธรรมที่ช่วยปรับปรุงตัวเราให้เป็นคนขยัน ไม่ดูถูกตนเอง มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเองทั้งป้องกันตัวเองไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ด้วย

 

สันโดษในแง่ที่เป็นธรรมปฏิบัติของภิกษุนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประการ  คือ   

๑) ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้ หมายความว่าเมื่อได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจในสิ่งนั้นไม่เดือดร้อนเพราะอยากได้ของที่ไม่ได้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นไม่ริษยาคนอื่น

๒) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง หมายความว่า พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังไม่หวงแหนเสียดาย ไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือไม่ฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน

๓) ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร หมายความว่า พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิตและจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะสมกับสมณสารูป หรือหากได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตนแต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น

 

สันโดษ ๓ นี้เป็นไปในปัจจัย ๔ แต่ละอย่าง ๆ จึงรวมเรียกว่า สันโดษ ๑๒ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

๑) ยถาลาภสันโดษในจีวร คือ ยินดีตามที่ได้ในจีวรภิกษุในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อได้รับจีวรซึ่งญาติโยมถวายมา จีวรนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ภิกษุย่อมใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาจีวรอื่นอีก ถึงแม้จะมีผู้ถวายในภายหลังก็ไม่รับ

๒) ยถาพลสันโดษในจีวร คือ ความยินดีตามกำลังในจีวรหรือเครื่องนุ่งห่มของตน เช่น หากภิกษุเป็นผู้มีกำลังน้อยอาพาธ หรือชราภาพ ควรที่จะนุ่งห่มจีวรเบา ก็ยินดีใช้สอยจีวรเช่นนั้น แม้จะได้รับจีวรอย่างหนา คุณภาพดีไม่หวงแหนเอาไว้ แต่นำไปถวายภิกษุอื่น

๓) ยถาสารุปปสันโดษในจีวร คือ ความยินดีตามสมควรในจีวรนั้น เช่น การที่ภิกษุได้รับจีวรที่มีคุณภาพดีและราคาแพงหรือได้รับบาตรคุณภาพดีและราคาแพง ภิกษุรูปนั้นจึงมีความคิดว่า จีวรและบาตรนี้ย่อมสมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน หรือผู้เป็นพหูสูต หรือผู้อาพาธ หรือผู้มีลาภน้อย จึงนำไปถวายแก่ผู้สมควร ไม่เก็บไว้ใช้เองหรือเปลี่ยนเอาจีวรเก่าของพระเถระมา ใช้สอยแทน

๔) ยถาลาภสันโดษในบิณฑบาต คือ ความยินดีตามได้ในบิณฑบาต เช่น เมื่อภิกษุออกบิณฑบาต ไม่ว่าจะได้รับอาหารดีเลวอย่างใดมาก็ตาม ย่อมยินดีบริโภคอย่างนั้น ไม่ต้องการอย่างอื่นอีก ถึงจะได้ก็ไม่รับ

๕) ยถาพลสันโดษในบิณฑบาต คือ ความยินดีตามกำลังในบิณฑบาต เช่น เมื่อภิกษุได้รับบิณฑบาตที่เหมาะกับสุขภาพร่างกายของตน ก็ยินดีในบิณฑบาตนั้น ไม่เที่ยวเพ่งเล็งหรือแสวงหาบิณฑบาตอื่นอีก หรือแม้ได้รับถวายบิณฑบาตที่ดี แต่ไม่เหมาะกับสุขภาพของตนก็ไม่หวงแหนไว้ แต่นำไปถวายภิกษุอื่น

๖) ยถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาต คือ ความยินดีตามสมควรในบิณฑบาต ภิกษุบางรูปมีบุญมาก ได้รับบิณฑบาตอันประณีตจำนวนมาก ก็แบ่งถวายแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย หรือผู้อาพาธตนเองบริโภคส่วนที่เหลือ

๗) ยถาลาภสันโดษในเสนาสนะ คือ ความยินดีตามที่ได้ในเสนาสนะ ภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อญาติโยมถวายเสนาสนะให้ แม้ว่าเสนาสนะนั้นจะเป็นเพียงเครื่องปูลาดที่มีคุณภาพต่ำ มีราคาถูกก็ตาม ย่อมยินดีตามที่ได้นั้น

๘) ยถาพลสันโดษในเสนาสนะ เช่น เมื่อภิกษุได้รับเสนาสนะที่ใช้แล้วเกิดความสบายเหมาะกับสุขภาพร่างกายของตน ก็พอใจใช้เสนาสนะนั้น แม้ว่าจะเป็นของเก่า หรือของไม่มีราคาก็มีความยินดีที่จะใช้สอยไม่ไปเที่ยวแสวงหาเสนาสนะอื่นอีก

๙) ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ คือ ความยินดีตามสมควรในเสนาสนะ เมื่อภิกษุได้เสนาสนะที่ดีมากมีถ้ำและมณฑป(เรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม) เป็นต้นก็ยกให้แก่พระเถระผู้บวชนานภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อยหรือผู้อาพาธเสีย ส่วนตนเองก็ยินดีอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสมควรแก่ตน เมื่ออยู่ในเสนาสนะใดเกิดความง่วงเหงาหาวนอน หรือเกิดอกุศลวิตก (ความตรึกในเรื่องกาม ความพยาบาท ความเบียดเบียน) ขึ้น ไม่อยู่ในเสนาสนะนั้นอีกต่อไป เลือกอยู่ในที่ที่ไม่ เกิดความง่วงเหงาหาวนอน และไม่เกิดอกุศลวิตก มีที่แจ้งและโคนไม้ เป็นต้น

๑๐) ยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัย คือ ความยินดีตามที่ได้ในคิลานปัจจัย (ปัจจัยสำหรับคนไข้หรือยารักษาโรคภิกษุเมื่อได้คิลานปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าเลวหรือดีอย่างไรก็ยินดีต่อคิลานปัจจัยนั้นๆ ไม่ต้องการอย่างอื่นอีก ถึงแม้ว่าจะได้ก็ไม่รับ

๑๑) ยถาพลสันโดษในคิลานปัจจัย คือ ความยินดีตามกำลังในคิลานปัจจัย ได้คิลานปัจจัยอย่างใดเป็นที่สบายแก่ตนก็ยินดีต่อคิลานปัจจัยนั้น เช่น ภิกษุอาพาธ จำเป็นต้องใช้ยา คือน้ำมัน เมื่อได้มาก็มีความยินดี พอใจในน้ำมันที่ได้มานั้น แต่หากได้ยาอื่น เช่น น้ำอ้อยมา ก็ไม่หวงแหนไว้ นำไปถวายแด่ภิกษุอื่น

๑๒) ยถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัย คือ ความยินดีตามสมควรในคิลานปัจจัย ได้แก่ ตนเห็นว่าคิลานปัจจัยที่ดี มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ย่อมสมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อยหรือผู้อาพาธจึงยกคิลานปัจจัยที่ดีนั้นให้แก่ภิกษุเหล่านั้นเสีย

 

      จากรายละเอียดในสันโดษ ๑๒ ประการ ยกมากล่าวนี้จะเห็นได้ว่า สันโดษแตกต่างกับความมักน้อย เพราะสันโดษไม่มีการจำกัดว่ามากน้อยเท่าใด แต่ให้ยินดีในสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หรือดีเลวอย่างไรก็ยินดีทั้งนั้น สิ่งใดก่อให้เกิดความสบายแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้น สิ่งใดสมควรแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้น    อย่างไรก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น เป็นผู้สันโดษ ส่วนพระภิกษุมีบริขารมากกว่านี้ ไม่ถือว่าสันโดษ

      บริขารทั้ง ๘ อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัด เล็บ เข็ม ประคดเอว และกระบอกกรองน้ำ  นี้สามารถใช้เป็นเครื่องบริหารกายก็ได้ เป็นเครื่องบริหารท้องก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น

จีวร ถ้าภิกษุใช้นุ่งห่ม จีวรก็ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารกาย แต่ถ้าใช้จีวรกรองน้ำ จีวรก็ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง

ส่วนบาตร นั้น ถ้าใช้ตักน้ำสรง และประพรมกุฏิ ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย ถ้าใช้บิณฑบาต ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้อง

สำหรับมีดโกน ถ้าใช้ปลงผมหรือตัดเล็บ ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย แต่ถ้าใช้ปอกผลไม้สำหรับฉัน ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้อง

แม้เข็ม ถ้าใช้เย็บจีวร ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย แต่ถ้าใช้จิ้มผลไม้ หรือขนมเพื่อฉัน ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้อง

ประคดเอว ถ้าใช้คาดเอว ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย แต่ถ้าใช้มัดอ้อย ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้อง

กระบอกกรองน้ำ ถ้าใช้กรองน้ำอาบ หรือนำมาประพรมเสนาสนะ ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย แต่ถ้าใช้กรองน้ำดื่มย่อมเป็นเครื่องบริหารท้อง

 

      การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้องเช่นนี้ คำว่า “จีวร” ย่อมหมายถึง “ไตรจีวร” อันประกอบด้วยสบง จีวร และสังฆาฏิ ซึ่งใช้พันกายแล้วคาดให้แน่นด้วยประคดเอว ดังนั้นจีวรจึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารกายส่วนบริหารอื่น ๆ ก็รวมกันใส่ไว้ในบาตร เมื่อจะเดินทางไปแห่งใดก็คล้องบาตรนั้นไว้ที่จะงอยบ่า ครั้นถึงเวลาเช้าก็ถือบาตรนั้นออกเดินบิณฑบาตเพื่อยังชีวิต ด้วยเหตุนี้บิณฑบาต จึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง

 

      ด้วยเหตุนั้น เมื่อภิกษุเพียงแต่สะพายบาตรใบเดียว ก็สามารถไปทุกทิศทุกภาค เปรียบเสมือนนกมีปีกก็สามารถไปได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ภิกษุผู้สันโดษย่อมบริโภคเสนาสนะอันเงียบสงัดได้ตามที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นในป่าโคนไม้ ซอกเขาชะง่อนผา ในถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่โล่งแจ้ง หรือลอมฟาง เป็นต้นโดยไม่มีห่วงใยในสิ่งใด ๆ๓

 

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญความสันโดษไว้ว่า“ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างเยี่ยม” หมายความว่าความยินดีด้วยของของตนนั้นเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

     ส่วนความไม่ยินดีในของของตนนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือเสื่อมทรามอย่างยิ่ง ดังเช่น  พระเทวทัตที่ขาดความสันโดษ ไม่รู้จักประมาณตนว่ายังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเลย เมื่อเห็นพระอรหันตสาวกรูปอื่นได้รับความเคารพสักการะมากกว่าตน ก็เกิดความริษยาเร่าร้อนใจ ทำให้หลงลืมการบำเพ็ญสมณธรรม กลับไปทะเยอทะยานหวังให้มีผู้คนมาเคารพสักการะตนมาก ๆ เจ้าคิดวางแผนการร้ายต่าง ๆ จนต้องก่อกรรมทำเข็ญถึงกับถูกธรณีสูบในที่สุด ก็เพราะขาดสันโดษนี่เอง

 

 

          เมื่อภิกษุเป็นผู้สันโดษ จิตย่อมคลายความกังวลและความยึดมั่นถือมั่น

       ย่อมมีความยินดีตามมาตามได้ จึงสามารถชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งในโลกได้

 

     จากพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูในบทที่ ๖ นี้ ย่อมทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าพระทัยดีว่า นักบวชที่แท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นจะต้องบวชเพื่อละกามและประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อสั่งสมบุญบารมีซึ่งเป็นเป้าหมายในการบวช   เมื่อบวชแล้วจะต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทั้ง หัวข้อโดยบริบูรณ์บริสุทธิ์ เพราะการปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้ จะเป็นปัจจัยของการบรรลุสามัญญผลที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

 

๑ สามัญญผลสูตร ที. สี.  ๙/๑๒๔/๙๔

๒ อรรถกถาสามัญญผลสูตร ที. อ.  ๔/๑๕/๑๘๔

๓ พระไตรปิฏกมหาวิตถารนัย ๕,๐๐๐กัณฑ์ หน้า ๓๒๒

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล