• Description slide 1

  • Description slide 2

  • Description slide 3

  • Description slide 4

ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

๓. ถึงพร้อมด้วยศีล

 580522_04.jpg - 71.18 kb

    ถึงพร้อมด้วยศีล หมายถึง เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ซึ่งในสามัญญผลสูตรนี้ หมายถึงความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๓ อย่างคือ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล

จุลศีล

      “จุลศีล” เป็นบทฝึกทางกายและวาจา ให้ภิกษุละการทำชั่ว พูดชั่ว ให้ประกอบกายกรรมและวจีกรรมที่เป็นกุศลเว้นขาดจากการแสวงหาและการรับในสิ่งที่ไม่สมควรต่อความเป็นสมณะ มีทั้งหมด ๒๖ ข้อ ดังต่อไปนี้

๑. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง

๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด อยู่ เสมอ

๓. ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นขาดจากเมถุนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของชาวบ้าน และไม่ทำดังที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

๔. ละเว้นจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง รักษาคำสัตย์พูดจาเป็นหลักเป็นฐาน เชื่อถือได้ ไม่พูดลวงโลก

๕. ไม่พูดส่อเสียดให้หมู่คณะแตกร้าวกัน แต่สมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันกล่าวแต่คำที่ทำให้คน สามัคคี กัน

๖. ไม่พูดคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไพเราะ ไม่มีโทษ เป็นที่รักและพอใจของผู้ได้ยิน

๗. ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดถูกกาลเทศะ พูดจริง เป็นอรรถเป็นธรรม เป็นวินัย มีหลัก มีที่อ้าง มีที่สุด เป็นคำพูดประกอบด้วยประโยชน์

๘. เว้นขาดจากการพรากพีชคามและภูตคาม๑ คือ เว้นจากการเก็บผักผลไม้มาบริโภคหรือตัดต้นไม้ใหญ่มาสร้างกุฏิวิหาร เป็นต้น

๙. มีภัตเดียว หมายถึงภัตที่พึงฉันในเวลาเช้า คือ ฉันเฉพาะในเวลาเช้าจนถึงเที่ยงวัน เว้นจากการฉันในยามราตรี

๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และชมการแสดงที่ยั่วยุให้กามกิเลสกำเนิดขึ้นในใจ

๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับตก แต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประทินผิว หรือสิ่งต่าง ๆที่นำมาตกแต่งร่างกาย เพื่อให้เกิดความสวยงาม

๑๒. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่เหมาะแก่สมณะผู้สันโดษ

๑๓. เว้นขาดจากการรับรองและเงิน

๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ ด้วยคิดหวังจะเก็บไว้ปรุงอาหารเอง

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสและทาส

๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้ คือทำมาหากิน ด้วยอาชีพต่าง ๆ

๒๓. เว้นขาดจากการซื้อและการขาย

๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

๒๖. เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิงการปล้น และกรรโชก

      ศีลทั้งหมดนี้กำหนดไว้เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุไปกระทำบาปอกุศลต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลังซึ่งทำให้ใจไม่สงบ ทำสมาธิได้ยาก อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุเป็นที่รังเกียจ หรือไม่น่าไว้วางใจของชาวบ้านโดยทั่วไป

 

มัชฌิมศีล

      เป็นบทขยายความของจุลศีลบางข้อให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ทั้งยังเป็นการตีกรอบ  ข้อปฏิบัติของภิกษุให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก สมกับที่ตั้งใจมุ่งมันมาบวชสร้างบุญบารมี มีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ดังต่อไปนี้

๑. เว้นขาดจากการพรากพีชคามและภูตคาม คือ จะไม่ทำตนดังเช่นนักบวชบางจำพวก ที่ฉันอาหารซึ่งชาวบ้านถวายด้วยความศรัทธาแล้วยังโลภมาก เก็บพืชผักของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นส่วนเหง้า ต้น ผล ยอดหรือเมล็ดก็ตาม ติดไม้ติดมือกลับไปวัดอีก

๒. เว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ คือ ไม่ทำตนเหมือนนักบวชบางพวกที่โลภมาก ชอบสะสมเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เช่น ข้าว น้ำ ผ้า ยานประเภทต่าง ๆ ที่นอนของหอม อามิสหรือเครื่องล่อใจต่าง ๆ เป็นต้น

๓. เว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น การขับร้อง ฟ้อนรำ ดนตรี มหรสพชนิดต่าง ๆ การละเล่นพื้นเมือง การแสดงหน้าศพ การชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโคชนแกะ ชนแพะ ชนไก่ รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ การรบ การสวนสนามจัดกระบวนทัพ การชมสวนดอกไม้ อนึ่งการดูหนังดูละครทางโทรทัศน์ในปัจจุบันก็จัดอยู่ในข้อนี้เช่นกัน การละเล่นที่กล่าวแล้วนี้ ล้วนกระตุ้นกิเลสราคะให้กำเริบขึ้นในจิตใจทั้งสิ้น

๔. เว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น เล่นหมากรุก หมากฮอร์สหมากเก็บเล่นกำทาย เล่นสกา เล่นไพ่ ถั่วโป ไฮโล ทั้งหลาย รวมถึงการเล่นปู้ยี้ปู้ยำเหมือนเด็ก ๆ เช่น เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถตุ๊กตา เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถตุ๊กตา เล่นธนูตุ๊กตา เล่นเขียนทางกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ ดังนี้เป็นต้น

     สรุปได้ว่า นักบวชต้องเว้นขาดจากการเล่นการพนัน การเล่นแบบเด็ก ๆ ศีลอดจนการเล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแบบฆราวาส

๕. เว้นขาดจากการนอนนั่งบนที่นอนที่นั่งอันสูงใหญ่หรือหรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินไปไม่เหมาะสมแก่สมณะผู้สันโดษเช่นเตียงที่ฝูงใหญ่ เตียงแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตร และเครื่องปูลาดชนิดต่าง ๆ ที่ราคาแพง ที่มีลวดลายงามวิจิตรพิสดารไม่ว่าจะเป็นลวดลายดอกไม้ หรือสิ่งสาราสัตว์ใด ๆ ทั้งสิ้น เครื่องปูลาดที่เป็นขนแกะหรือผ้าไหม ที่มีขลิบเงินขลิบทอง เครื่องปูลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์อันอ่อนนุ่มราคาแพง เป็นต้น 

๖. เว้นขาดจากการประกอบการตกแต่งร่างกายให้งดงามวิจิตร เช่น การอบตัว อาบน้ำหอม อาบน้ำแร่แช่น้ำนมการนวดหน้า ส่องกระจก เขียนคิ้ว ทาปาก ผัดหน้า ทัดดอกไม้ธุระตนผิว สวมสร้อยข้อมือ หรือใช้เครื่องประดับตกแต่งอื่น ๆเช่นไม้เท้า ดาบ ขรรค์ ร่ม สวมรองเท้าที่มีลวดลายวิจิตรพิสดารใช้พัดวาลวีชนี นุ่งห่มด้วยผ้าสีอื่นแบบอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เป็นต้น ส่วนภิกษุที่ใช้ไม้เท้าหรือร่มซึ่งมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการประดับตกแต่งให้ดูโก้เก๋ ไม่เข้าข่ายผิดศีลในข้อนี้

 ๗. เว้นขาดจากการกล่าวติรัจฉานกถา คือ การพูดคุยเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ หรือเรื่องใด ๆ ที่พาให้จิตใจของผู้พูดและผู้ฟังตกต่ำจากคุณความดี ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวหมดกำลังใจหรือทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย เช่น พูดชื่นชมความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ พูดเรื่องโจร เรื่องข้าราชการ เรื่องการเมือง เรื่องกองทัพ เรื่องยุทธวิธีการรบ เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะต่าง ๆเรื่องบ้าน เรื่องนิคมหรือชุมชน เรื่องความเป็นไปในเมืองใหญ่และชนบทเรื่องสตรี เรื่องแฟชั่น เรื่องบุรุษ เรื่องเพลง เรื่องหนังละคร เรื่องดารา เรื่องเบ็ดเตล็ดทั่ว ๆ ไป เป็นต้น

      โดยสรุปคือ ภิกษุต้องเว้นขาดจากการพูดคุยเรื่องซึ่งนอกเหนือจากกิจโดยตรงของสงฆ์

 ๘. เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำโอ้อวด ยกตนข่มท่านหรือกล่าวดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น เช่น ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ภิกษุอย่างท่านจะมีปัญญารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิดแนวทางแล้ว แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูกถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ท่านแสดงธรรมไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว สู้นักเทศน์ฝีปากเอกอย่างข้าพเจ้าไม่ได้ ทั้งที่ควรจะกล่าวก่อนท่านกลับกล่าวที่หลัง คำที่ควรจะกล่าวที่หลังท่านกลับกล่าวก่อน ดังที่ท่านเคยช่ำชองมานั้นเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป แล้ว ข้าพเจ้าจับผิดท่านได้หลายครั้งแล้วข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น

๙. เว้นขาดจากการทำการงานรับใช้ผู้อื่น เช่น รับใช้เป็นทูตของพระราชา ทำตัวเป็นบุรุษไปรษณีย์รับส่งข่าวสารหรือพัสดุภัณฑ์ให้คฤหัสถ์ รับจ้างนำสิ่งของจากคนหนึ่งไปส่งให้อีกคนหนึ่ง เป็นพ่อสื่อให้คู่หนุ่มสาวรับติดต่อฝากคนเข้าทำงานเป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง ดังนี้เป็นต้น

๑๐. เว้นขาดจากการพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง เพื่อล้วงความลับ พูดหว่านล้อมยกยอปอปั้น เพื่อเห็นแก่ลาภ ดังนี้ เป็นต้น

 

มหาศีล

      เป็นพระวินัยที่มุ่ง ห้ามพระภิกษุไม่ให้เลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา นับตั้งแต่การทางอวัยวะ เช่น ทายลายมือลายเท้าการทายนิมิต เช่นทายลางบอกเหตุ ทายฟ้าผ่า ทำนายฝัน ทำนายหนูกัดผ้า การทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน (จุดเทียนที่ติดบนแว่นเวียนเทียน แล้วส่งกันต่อ ๆ เพื่อเป็นการทำขวัญ) พิธีชัดแกลบบูชาไฟ พิธีชัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีเสกเป่าบูชาไฟ การทำพลีกรรม(บวงสรวงด้วยโลหิต เป็นหมอดูลักษณะที่ทั้งบ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก หมอผี หมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน หมองู หมอยาพิษ หมอแมงป่อง หมอรักษาแผลหนูกัด หมอทายเสียงนก หมอทายเสียงกาหมอทายอายุ หมอเสกกันลูกศร หมอทายเสียงสัตว์ ดังนี้เป็นต้น

๒. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา นับตั้งแต่การทายลักษณะแก้วมณี ลักษณะไม้พลองลักษณะศาสตรา ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ ลักษณะสตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะกุมาร ลักษณะกุมารี ลักษณะทาส ลักษณะทาส ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ(วัวผู้) ลักษณะโค ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ลักษณะนกกระทา ลักษณะเหี้ย ลักษณะตุ่นลักษณะเต่า และลักษณะมฤค (กวางและสัตว์ป่าทั้งหลาย)

๓. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา ด้วยการดูฤกษ์ยาตราทัพ ให้พระราชาว่า ควรจะยกทัพเข้าประชิดศัตรูเมื่อใด ควรจะถอยทัพเมื่อใด ถ้ายกทัพไปเวลาใดจะมีชัยชนะ ยกไปเวลาใดจะปราชัย เพราะเหตุใด เป็นต้น

๔. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยการพยากรณ์ว่า จะมีจันทรคราส สุริยคราสอุกกาบาต ดาวหางแผ่นดินไหว ฟ้าร้อง หรือพยากรณ์ว่า ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจะขึ้นหรือตกเมื่อใด จะเดินถูกทางหรือผิดทางจะมัวหมองหรือกระจ่าง หรือพยากรณ์ว่า จันทรคราส สุริยคราสดาวนักษัตรจะมีผลอย่างไร เป็นต้น

๕. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานกถา โดยการพยากรณ์ว่า ฝนจะดีหรือแล้ง พืชพันธุ์ธัญญาหารจะสมบูรณ์หรือขาดแคลน จะเกิดภัยพิบัติ โรคระบาดต่าง ๆ หรือไพร่ฟ้าประชาชนจะมีความสมบูรณ์พูนสุขกันทั่วหน้า เป็นต้น

 ๖. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยการให้ฤกษ์อ์าวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาห์มงคลดูฤกษ์เรียงหมอน(ฤกษ์เนื่องในพิธีปูที่นอนบ่าวสาว) ฤกษ์หย่าร้าง ฤกษ์เก็บทรัพย์ฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดีดูเคราะห์ร้าย ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้างร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียงร่ายมนต์พ่นไฟ ร่ายมนต์ขับผี เป็นหมอเสน่ห์ เป็นผู้บวงสรวงพระอาทิตย์ ผู้บวงสรวงท้าวมหาพรหมทำพิธีเชิญขวัญ เป็นต้น

๗. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยการทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน พิธีขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือนทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวงสรวงพื้นที่พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตายานัตถุ์ ยาทากัด ยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล เป็นต้น

 

     ในที่นี้มีคำว่า ติรัจฉานวิชา๒ คำว่า “ติรัจฉาน” แปลวา“ไปขวาง” ดังนั้น “ติรัจฉานวิชา” จึงมีความหมายว่าวิชาเหล่านี้“ขวาง” หรือ “ไม่เข้ากับความเป็นสมณะ” มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ติรัจฉาน๓  ดังนั้นถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำที่ขวางหรือขัดกับความเป็นพระวิชาที่พระไม่ควรเกี่ยวข้อง จึงจัดเป็นติรัจฉานวิชา คือ วิชาที่ขวางหรือขัดกับความเป็นพระ  

 

 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรุปเรื่องความถึงพร้อมด้วยศีลว่า

      “ภิกษุใด เป็นผู้ปฏิบัติสมบูรณ์ด้วยศีลทั้ง ๓อย่าง คือ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีลนี้แล้วย่อมได้รับอานิสงส์มากมาย ที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่ไม่มีภัยใด ๆ มากล้ำกราย เปรียบเสมือนกษัตริย์ผู้กำจัดอริราชศัตรูหมดสิ้นแล้วย่อมไม่ประสบภัยทั้งปวงจากภายนอก ส่วนภายในจิตใจนั้นเล่า ย่อมรู้สึกสงบ สบาย ปราศจากความเลือดร้อนกระวนกระวาย จึงกล่าวได้ว่าพระภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์ ย่อมเสวยสุขทั้งทางกายและทางใจ” 

       พึงสังเกตว่า จุลศีลและมัชฌิมศีลนั้น มีความสัมพันธ์กับปาฏิโมกขสังวรศีลและอาชีวปาริสุทธิศีล  ส่วนมหาศีลนั้นสัมพันธ์กับอาชีวปาริสุทธิศีลโดยตรงทีเดียว

 

       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้สดับเรื่องศีลจากพระบรมศาสดาพระองค์ก็บังเกิดความนับถือเลื่อมใสพระภิกษุอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่าสมควรแล้วที่พระภิกษุจะพึงได้รับการเคารพกราบไหว้และต่อแต่นี้ไปพระองค์เองก็จะทรงกราบไหว้พระภิกษุด้วยความเคารพอย่างสนิทใจ มิใช่เพียงปฏิบัติตามมารยาทและประเพณีดังแต่ก่อนที่สำคัญที่สุดทรงทราบชัดเจนแล้วว่า พระเทวทัตผู้ชักนำให้พระองค์ทรงหลงผิดนั้น แท้จริงคือโจรในคราบพระภิกษุนั้นเอง เพราะจะหาศีลสักข้อในตัวก็ทั้งยาก 

       เมื่อตรัสเรื่อง “ความถึงพร้อมด้วยศีล” จบลงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูต่อไปอีกว่า“มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย”

 

------------------------------------------------------------

๑  พีชคาม คือ พืชพันธุ์อันถูกพรากจากที่แล้ว แต่ยังจะเป็นได้อีก

    ภูตคาม คือ พืชพรรณอันเป็นอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด คือ

     ๑. พืชเกิดจากเหง้า เช่น ขมิ้น ข่า  

     ๒. พืชเกิดจากต้น คือ ผลที่ออกจากไม้ต้นทั้งหลาย เช่น มะม่วง ทุเรียน

     ๓. พืชเกิดจากข้อ คือ ใช้ข้อปลูก เช่น อ้อย ไม้ไผ่    

     ๔. พืชเกิดจากยอด คือ ใช้ยอดปักก็ขึ้นเป็นต้นได้อีก เช่นผุกบุ้ง 

     ๕. พืชเกิดจากเมล็ด เช่น งา 

๒  พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๒๙๑

๓  ส่วนสาเหตุที่เราเรียกสัตว์อื่นนอกจากมนุษย์ว่า “สัตว์ติรัจฉาน”ก็เพราะสัตว์เหล่านั้นเคลื่อนไหวโดยมีลำตัวไปตามขวาง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เคลื่อนไหวด้วยกายที่ตั้งตรง

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล