จากที่กล่าวมาแล้วนี้จะเห็นว่า ข้อบัญญัติเกี่ยวกับอาชีพบริสุทธิ์นั้น จะช่วยให้พระภิกษุมีกายและวาจาบริสุทธิ์ อย่างยิ่งอย่างไรก็ตามอาชีพบริสุทธิ์เป็นเพียงเรื่องของวิธีการแสวงหาปัจจัย ๔ เท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติวิธีบริโภคที่ดีเพิ่มเติมอีก เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นก็คือศีลที่เรียกว่า “ปัจจัยสันนิสสิตศีล” หรือ “ปัจจเวกขณศีล”
ปัจจัยสันนิสสิตศีล
โดยเหตุที่เป้าหมายสำคัญของการบวช คือ การหลีกออกจากกาม ดังนั้น เมื่อพระภิกษุสุามารถปฏิบัติตนให้สมบูรณ์ด้วยอาชีวปาริสุทธิศีลแล้ว ก็จำเป็นจะต้องรู้จักบริโภคปัจจัยที่ได้มาอย่างฉลาดอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อยกตนให้พ้นจากการเป็นทาสของกามได้อย่างแท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนการบริโภคปัจจัย ๔ หรือปัจจัยสันนิสสิตศีล ให้กับพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย ๔ อย่างแยบคายดังนี้
๑) วัตถุประสงค์ในการใช้จีวร
คำว่า “จีวร” หมายรวมถึงผ้าทุกชิ้นที่ภิกษุใช้นุ่งและห่ม การใช้จีวรก็เพียงเพื่อบำบัดความหนาว อันจะเป็นเหตุให้เกิดอาพาธประการหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลง และสัตว์ร้ายทำอันตรายประการหนึ่ง และเพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าอายอีกประการหนึ่ง
๒) วัตถุประสงค์ในการบริโภคบิณฑบาต
คำว่า “บิณฑบาต” หมายถึง “อาหาร” ของพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พระภิกษุพิจารณาการบริโภคอาหารอย่างแยบคาย เพื่อละอุปนิสัยที่ไม่ดี และเพื่อป้องกันมิให้กิเลสเฟื่องฟูขึ้นในใจโดยตรัสแสดงไว้เป็น ๔ แนวทาง คือ
แนวทางที่ ๑ ต้องไม่บริโภคเพื่อจะเล่น
หมายความว่าไม่มุ่งการบริโภคให้มีเรี่ยวแรงไปเล่นคะนองเหมือนเด็กๆ และไม่มุ่งเอากำลังมากอย่างลูกผู้ชาย ดังเช่นพวกนักมวย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ละอุปนิสัยแห่งโมหะ และโทสะ คือ ความงมงาย และความขึ้งเคียดเสีย
แนวทางที่ ๒ ต้องไม่บริโภคเพื่อจะมัวเมา
หรือติดในรสอาหาร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ละอุปนิสัยแห่งโลภะหรือความติดใจในกามคุณเสียอันที่จริงจุดมุ่งหมายที่แยบคายของทั้ง ๒ แนวทางแรกนี้ ก็เพื่อป้องกันอาสวะ อันจะบังเกิดขึ้นในตนนั่นเอง
แนวทางที่ ๓ การบริโภคนั้นไม่ต้องการจะประดับ
หมายความว่า ไม่มุ่งความอวบอัดอ้วนพีแห่งอวัยวะต่างๆ ดังเช่น หญิงแพศยาเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อละอุปนิสัยแห่งความกำหนัดเสีย
แนวทางที่ ๔ การบริโภคนั้นไม่ต้องการจะตกแต่ง
หมายความว่า ไม่มุ่งจะให้ผิวงามดังเช่นตัวละครเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อละอุปนิสัยกำหนัด ราคะ เช่นกัน จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายที่แยบคายของ ๒ แนวทางหลังนี้ ก็เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดขึ้นในตนรวมทั้งผู้อื่นด้วย
เมื่อตรัสสอนในเชิงให้ละและป้องกันกิเลสแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงสอนถึงวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องในการบริโภค กล่าวคือ ให้พิจารณาว่าพระภิกษุบริโภคอาหาร ก็เพื่อยังชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป และเพื่อระงับความหิว แล้วอาศัยกำลังกาย อันเกิดจากการบริโภคนั้น ศึกษาไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประพฤติพรหมจรรยได้โดยบริบูรณ์บริสุทธิ์ เพื่อความหลุดพ้นของตนเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เพื่อจะได้เป็นที่พึงที่ระลึกของสัตว์โลกทั้งหลาย ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตากรุณาและสันติสุข
ส่วนการบริโภคที่เป็นโทษ นอกจากจะหมายถึงการบริโภคอาหารได้มาจากการแสวงหาโดยอาชีพไม่บริสุทธิ์ดังได้กล่าวไว้แล้ว ยังหมายรวมถึงการบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ คือไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ และการบริโภคมากเกินพอ ซึ่งมีโทษมากมาย เช่น ทำให้เกิดความกระสัน ความอืดอาด ความง่วงเหงาหาวนอน อันเป็นเหตุแห่งความเกียจคร้าน เป็นต้นส่วนการบริโภคพอประมาณนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ควรบริโภคหย่อน ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำตามไป ก็จะรู้สึกอิ่มพอดีไม่ทำให้ท้องพร่อง และไม่ทำให้แน่นท้องจนรู้สึกอึดอัด
๓) วัตถุประสงค์ในการใช้เสนาสนะ
คำว่า “เสนาสนะ” ประกอบด้วย คำว่า “เสนะ” คือ ที่นอน กับ “อาสนะ” คือ ที่นังเมื่อรวมกันเป็น “เสนาสนะ” หมายถึง ที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ วิหารและเครื่องใช้เกี่ยวกับสถานที่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งโคนไม้ เมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็เรียกว่า “เสนาสนะ”
วัตถุประสงค์โดยตรงของการใช้เสนาสนะ ก็เพียงเพื่อบำบัดความร้อน หนาว และเพื่อออยู่ตามลำพังอย่างสงบ นอกจากนี้ก็เพื่อบรรเทาอันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายอันเนื่องจากการเบียดเบียนของเหล่าสัตว์ร้ายต่าง ๆ และอันตรายอันจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเห็นรูป แล้วทำให้กิเลสกามเฟื่องฟูขึ้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการใช้เสนาสนะแล้ว ยอมเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งการใช้เสนาสนะ เพื่อเป็นที่นอนและที่นั่งอย่างแท้จริง ดังนั้นกุฏิของพระภิกษุ จึงไม่สมควรตกแต่งด้วยเครื่องเรือน หรือเครื่องประดับบ้านที่หรูหราฟุ้งเฟ้อ เพราะจะเอื้ออำนวยให้กิเลสกามของพระภิกษุเจ้าของเสนาสนะเฟื่องฟูขึ้นโดยเหตุนี้พระภิกษุเป็นจะต้องพิจารณาโดยแยบคายในการใช้สอยเสนาสนะ
๔) วัตถุประสงค์ในการใช้คิลานเภสัช
คำว่า “คิลาน” (คิ-ลา-นะ) แปลว่า “คนเจ็บ” คำว่า “คิลานฌสัช” แปลว่า “ยารักษาโรค” ซึ่งรวมถึง เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ถือว่าเป็นคิลานเภสัชของพระภิกษุด้วย
วัตถุประสงค์ในการบริโภคคิลานเภสัช ก็เพื่อระงับอาพาธหรือโรคต่าง ๆ อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขเวทนาดังนั้นก่อนที่พระภิกษุจะบริโภคจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จนมั่นใจว่าเมื่อบริโภคแล้ว ทุกขเวทนาในตนจะถูกระงับอย่างแท้จริง
อนึ่ง ในเรื่องของการบริโภคคิลานเภสัชนี้ มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันซึ่งมีการใช้ยาที่เป็นโทษแก่ร่างกายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาประเภทที่เรียกกันว่า “ยาเพิ่มพลังหรือยาขยัน” และ “ยาอายุวัฒนะ” นั้น ที่แท้คือยาที่ก่อให้เกิดทุกขเวทนา มิใช่ระงับทุกขเวทนา ฉะนั้น ก่อนจะบริโภค จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าสิ่งนั้นเป็นคิลานฌสัชที่เหมาะกับตนหรือไม่
ปัจจัยสันนิสสิตศีลนี้ จึงมุ่งเน้นให้พระภิกษุบริโภคใช้สอยปัจจัยสอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการให้พระภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย ถึงวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องของการบริโภคเสียก่อน แล้วจึงค่อยบริโภคใช้สอยปัจจัยนั้น ๆซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยสันนิสสิตศีลนี้ พระภิกษุะสามารถบำเพ็ญให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ ก็ด้วยปัญญา