ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
1. ดินแดนประดิษฐานพระพุทธศาสนาแห่งแรก
ในสมัยพุทธกาล แคว้นมคธขึ้นชื่อลือนามว่าเป็นแว่นแคว้นที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง เพราะตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแม่น้ำ 3 สาย คือ จัมปา คงคาและโสณะ ไหลคดเคี้ยวไปตามพรมแดนด้านตะวันออก เหนือ และตะวันตก ตามลำดับตลอดทั้งปี
ส่วนทางด้านเหนือมีเทือกเขาหิมาลัยอันสูงทะมึน ซึ่งปกคลุมด้วย ป่าทึบและเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายขวางปิดกั้นพรมแดนไว้ เมืองหลวงของแคว้นนี้มีชื่อว่า “กรุงราชคฤห์” ที่เลืองลือกันว่าเป็นนครแห่งความร่ำรวยมั่งคั่งมหาศาล บรรดาเศรษฐีและมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ เช่น เมฑกเศรษฐี เป็นต้น ล้วนอาศัยอยู่ ในกรุงราชคฤห์ บรรดาประชาราษฎร์ในนครนี้ ล้วนใฝ่รู้รักการเล่าเรียน มีความเชี่ยวชาญในเชิงศิลปวิทยาการต่างๆยิ่งนัก จึงมีความฉลาดเฉลียวในการหาทรัพย์ นำความมั่งคั่งร่ำรวยมาสู่แว่นแคว้น ถึงกับต้องเจาะภูเขาเป็นถ้ำเพื่อใช้ เป็นพระคลังหลวง สำหรับเก็บมหาสมบัติและอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ
กล่าวได้ว่า แคว้นมคธในสมัยพุทธกาลนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และลัทธิต่างๆ บรรดาศาสดาเจ้าลัทธิ และนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายต่างมาชุมนุมกันในแคว้นนี้ สมกับที่ป็นดินแดนแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย รวมทั้งพระมหากัสสปะเถระ ต่างก็เป็นชาวแคว้นมคธทั้งสิ้น
เพราะเหตุที่เป็นศุนย์กลางแห่งความเจริญทั้งปวง แคว้นมคธจึงได้รับยกย่องให้เป็นแว่นแคว้นแห่งมหาอำนาจ หนึ่งในสี่ของชมพูทวีป* ยังความครั่นคร้ามยำเกรงแก่บรรดาแคว้นต่างๆในยุคนั้น และเพราะเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ แคว้นนี้เป็นแห่งแรก
*แคว้นที่เป็นมหาอำนาจทั้ง 4 ของชมพูทวีป ได้แก่ มคธ โกศล อวันตี และวังสะ