ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 

"พระไตรปิฎก" แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำ ๆ ว่า พระ+ไตร+ปิฎก 

คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง  ,  คำว่า ไตร แปลว่า ๓  ,  คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ อย่าง คือ คัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง และ กระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่า เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น โดยนัยนี้  ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ ( และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา ) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก  สุตตันตปิฎก  และอภิธรรมปิฎก

๑. พระวินัยปิฎก

         ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือ พุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ ดังนี้

๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต

๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด

๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน 

๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ 

๕. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้

พระวินัยพระวินัยปิฎก เรียกกันว่า หัวใจพระสูตร ใช้อักษรย่อว่า อา ปา ม จุ ป

 

๒. พระสุตตันตปิฎก

          ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ตลอดจนบทประพันธ์ ชาดกเรื่องราวชีวประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต  แบ่งเป็น ๕ นิกาย  ดังนี้

๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร 

๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร 

๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร 

๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร 

๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี ๑๕ คัมภีร์

พระสุตตันตปิฎก เรียกกันว่า หัวใจพระสูตร ใช้อักษรย่อว่า ที ม สัง อัง ขุ 

 

๓. พระอภิธรรมปิฎก

        อภิธรรม แปลว่า "ธรรมอันยิ่ง" ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ ดังนี้

๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ

๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด 

๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ 

๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ

๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓

๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ 

๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

 พระวินัยปิฎก เรียกกันว่า หัวใจพระสูตร ใช้อักษรย่อว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป

 

พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ 

พระวินัยปิฎ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

       พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ 

       พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล