มหัศจรรย์วันออกพรรษา
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันสงบประณีต ละเอียดลึกซึ้ง จะคิดค้นด้นเดากันเองไม่ได้ จะรู้ได้เฉพาะผู้ที่ลงมือปฏิบัติเท่านั้น เพราะเป็นของเฉพาะตน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเป็นเพียงผู้ชี้แนะหนทาง ดังที่ตรัสไว้ว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกหนทางให้ ส่วนเธอต้องลงมือปฏิบัติเอง”
ถ้าหากเราตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ และปฏิบัติอย่างถูกวิธี ย่อมเข้าถึงธรรมได้อย่างแน่นอน เนื่องจากธรรมทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างหรือสมมติขึ้นมา แต่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีทำใจให้หยุดนิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น
มีคาถาสรรเสริญพระบรมศาสดาใน คัดคราสูตร ว่า
“พระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งปราศจากมลทิน ย่อมแจ่มกระจ่างในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ ผู้มีพระรัศมีซ่านออกแต่พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรืองล่วงสรรพสัตวโลก ด้วยพระยศ ฉันนั้น ดังนี้”
พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสั่งสมบุญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน อย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนมหากัป ทำให้เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่มีใครที่จะมาเทียบกับพระองค์ได้ ถึงคราวที่จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ นอกจากปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปจะบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสอย่างเปี่ยมล้นแล้ว แม้พระอริยสาวกผู้ทรงอภิญญา เมื่อได้เห็นพุทธานุภาพ ทุกท่านต่างอัศจรรย์ใจในความเป็นอจินไตยของพระพุทธเจ้า กระทั่งเหล่านักบวชนอกศาสนาหรือมหาชนที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิพากันเลื่อมใสศรัทธา ถึงขนาดหันมานับถือพระพุทธศาสนากันมากมายนับไม่ถ้วน
* ในขณะที่ พระบรมศาสดา ทรงแสดงปาฏิหาริย์อยู่นั้น ได้ทรงรำพึงว่า “พระพุทธเจ้าในอดีต หลังจากที่ท่านแสดงปาฏิหาริย์แล้ว จะเสด็จไปจำพรรษา ณ สถานที่ใด” ครั้นทรงรู้ว่า “ควรจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา” พระองค์จึงยกพระบาทขวาขึ้นเหยียบยอดภูเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้ายเหยียบยอดเขาพระสิเนรุ ก้าวย่างพระบาทขึ้นไปเช่นเดียวกับคนทั่วไป
ขณะที่พระองค์ทรงยกพระบาทขึ้นนั้น ภูเขาก็โน้มมารองรับพระบาททันที เมื่อทรงดำเนินผ่านไป ภูเขาก็กลับมาตั้งอยู่ที่เดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องอจินไตยของพระพุทธเจ้าพระอินทร์ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ก็ปีติโสมนัสที่พระบรมศาสดาจะทรงจำพรรษาในดาวดึงส์ ซึ่งนับเป็นบุญลาภอันประเสริฐของเหล่าทวยเทพยิ่งนัก ชาวสวรรค์ทั้งหมดจึงได้ถวายการต้อนรับด้วยความปลื้มปีติอย่างยิ่ง
พระบรมศาสดาเสด็จจำพรรษาบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งยาวถึง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ และประทับอยู่ใต้ต้นปาริฉัตร มีเหล่าทวยเทพจากสวรรค์ทุกชั้นฟ้ามารวมประชุมกันเนืองแน่นเต็มไปหมด เพื่อที่จะรับฟังพระธรรม เทวดาที่มีรัศมีสว่างไสวมากมีบุญบารมีมากจะนั่งอยู่ด้านหน้า ที่มีรัศมีน้อยก็นั่งลดหลั่นไปตามลำดับ แต่รัศมีของเหล่าเทวดา ไม่อาจที่จะเทียบกับฉัพพรรณรังสีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย
มหาชนรู้ว่าพระบรมศาสดาเสด็จจำพรรษาในเทวโลก และจะเสด็จกลับในวันมหาปวารณา ทุกคนจึงเฝ้ารอคอยการเสด็จกลับมาของพระพุทธองค์อยู่บริเวณนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก เพราะสถานที่แห่งนั้น แม้จะเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ ไม่มีเครื่องมุงบังกันแดดกันฝน แต่กลับมีบรรยากาศที่เย็นสบายเหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าคนจะมากันมากมายเพียงใดก็มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ เพราะได้ ท่านจุลอนาถบิณฑกะ เป็นต้นบุญคอยจัดอาหารมาเลี้ยงทุกคนไม่ให้ขาดตกบกพร่องตลอดทั้ง ๓ เดือน ส่วนพระโมคคัลลานะ ได้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อน้อมนำพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบนสวรรค์มาแสดงให้มหาชนฟังอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระบรมศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ทวยเทพ ทรงเริ่มแสดงอภิธรรมปิฎกว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา” แสดงเรื่อยไปตลอด ๓ เดือน ให้กับ สิริมหามายาเทพบุตรที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตพร้อมด้วยเหล่าเทพบริวารอีกมากมาย เมื่อถึงคราวที่จะเสด็จไปบิณฑบาต พระองค์ก็จะเนรมิตพระพุทธนิมิตแสดงธรรมแทน จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับ
ทุกๆ วัน พระองค์จะเสด็จไปบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป และทรงฉันภัตตาหารที่สระอโนดาตในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตร จะมาอุปัฏฐากพระองค์ พร้อมกับฟังธรรมที่พระองค์ได้แสดงบนสวรรค์ จากนั้นท่านจะนำไปแสดงแก่สัทธิวิหาริกของท่าน ๕๐๐ รูป และเทศน์สอนมหาชนที่มารอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์ร่วมกับพระโมคคัลลานะด้วย
ในพรรษานั้นมีภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเคยเกิดเป็นค้างคาวหนูเกาะอยู่ในถํ้าแห่งหนึ่ง ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังพระสวดอภิธรรมต่างเกิดความเลื่อมใสในเสียงนั้น ด้วยจิตที่เลื่อมใสเมื่อละโลกไปแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกก็มาเกิดในกรุงสาวัตถี มีบุญได้มาเห็นยมกปาฏิหาริย์ เกิดความปีติเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามากจึงขอบวช ทันทีที่ได้ฟังพระอภิธรรม ธรรมสัญญาที่เคยฟังสมัยเป็นค้างคาวหนูก็เกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้ชำนาญในพระอภิธรรมเป็นพิเศษ
เมื่อถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง เหล่าเทวดาได้บรรลุธรรมาภิสมัยเข้าถึงธรรมกันถึง ๘๐,๐๐๐ โกฏิ สิริมหามายาเทพบุตรได้บรรลุโสดาบัน ในวันนั้นเป็นวันที่แสงแห่งธรรมสว่างไสวรุ่งโรจน์ไปทั่วทุกชั้นฟ้า พระบรมศาสดาตรัสบอกพระอินทร์ว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะเสด็จกลับสู่มนุษยโลก
มหาชนต่างมารอคอยพระองค์อยู่ที่เมืองสังกัสสะนคร ทุกคนล้วนมีใจที่ผ่องใส เจริญพุทธานุสติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ตลอดทั้ง ๓ เดือน ใจจึงเกลี้ยงเกลาสะอาดบริสุทธิ์มาก ขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ พร้อมกับเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ด้วยใจที่ใสบริสุทธิ์ของมหาชนในครั้งนั้น จึงทำให้สามารถมองเห็นเทวดาบนสวรรค์ทุกชั้นฟ้าที่มาส่งพระองค์ เป็นเหมือนกองทัพของชาวสวรรค์ที่เลื่อนลอยมาจากนภากาศ มีความยิ่งใหญ่ประดุจพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จออกยาตราทัพ เหล่าเทวดาได้ลงมาทางบันไดทอง มหาพรหมลงทางบันไดเงิน
ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงทางบันไดแก้วมณี ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างไสวเรืองรองไปทั่วทั้งโลกธาตุ แล้วเกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น คือ ท่านเปิดโลกทั้งสาม ให้เห็นถึงกันในเวลาเดียวกัน คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก เห็นกันหมดทั้งเทวดา มนุษย์ สัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เปรต อสุรกายต่างเห็นกันและกันด้วยตาเนื้อ เป็นอัศจรรย์ด้วยพุทธานุภาพ เมื่อเห็นความอัศจรรย์นั้นต่างเกิดมหาปีติ พากันตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า เพราะเห็นพุทธานุภาพนั้น บางคัมภีร์ถึงกับกล่าวว่า แม้แต่มดซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานยังมีความรู้สึกนึกคิดที่จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าด้วย วันนั้นจึงเรียกว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”
ในขณะที่มหาชนกำลังเกิดมหาปีติอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ที่มาถวายการต้อนรับพระองค์ในครั้งนั้น ทั้งมนุษย์ และเทวาได้เข้าถึงพระธรรมกายถึง ๓๐ โกฏิ นี่เป็นเรื่องจริงที่เล่าขานยาวนานมาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เราจะมีความปลื้มปีติใจ และมองย้อนไปดูความตั้งใจจริงในการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราที่ผ่านมา ว่าได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกันมิได้ขาด เราจะมีปีติสุขเป็นรางวัล หากท่านใดที่ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ให้เร่งรีบและหันกลับมาให้ความสำคัญกับศูนย์กลางกายเพิ่มมากขึ้น ให้มีพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์ให้ได้ จะเดิน ยืน นั่งนอน หรืออยู่ในอิริยาบถใด อย่าลืมรักษาใจให้หยุดนิ่ง เพื่อพรรษานี้จะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธมฺมชโย)
* มก. เรื่องยมกปาฏิหาริย์ เล่ม ๔๒ หน้า ๓๐๗