ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ขั้นตอนการบวชพระ

news610330_06.jpg - 129.35 kB

       พิธีการบวชพระที่ใช้ในปัจจุบัน มีอยู่  2  แบบด้วยกัน  คือ แบบอุกาสะ และแบบเอสาหัง  โดยคำว่า "อุกาสะ"  แปลว่า ขอโอกาส  ส่วนคำว่า "เอสาหัง" แปลว่า ข้าพเจ้านั้น  ในประเทศไทยการบวชพระแบบอุกาสะ  จะใช้กันในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นแบบเดิมที่ใช้กันมาแต่โบราณกาล ส่วนการบวชพระแบบเอสาหัง จะใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะเพื่อย่อขั้นตอนให้สั้นขึ้น  มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  พระบาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยยึดรูปแบบมาจากพระสงฆ์ประเทศพม่า

       ขั้นตอนการบวชพระ ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงพิธีการบวชพระแบบอุกาสะ เนื่องจากเป็นการบวชแบบเดิมที่มีมาแต่โบราณ แม้ว่าการบวชในประเทศไทยจะมี 2 แบบ แต่ก็ยึดหลักการบวชตามพุทธบัญญัติทุกประการ ต่างกันเพียงข้อปลีกย่อยบางข้อเท่านั้น ขั้นตอนการบวชพระแบบอุกาสะ มีดังนี้

 

ขั้นตอนการบวช

๑. สมัครบวช

๒. พิธีตัดปอยผม

๓. พิธีปลงผม

๔. ฝึกภาคสนาม

๕. เตรียมบวช (เป็นนาค รักษาศีล ๘)

๖. แห่นาครอบเมือง

๗. พิธีขอขมาและรับผ้าไตร ณ วัดที่เป็นศูนย์อบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ

๘. พิธีบรรพชาพร้อมกันทั่วประเทศ ณ วัดพระธรรมกาย

๙. พิธีอุปสมบทหรือบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดต่าง ๆ ใน ๗๗ จังหวัดทั่วไทย

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อนุศาสน์ 

     คำสอนหรือคำชี้แจงที่พระอุปัชฌาย์หรือพระกรรมวาจาจารย์บอกแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่หลังจากบวชเสร็จ คล้ายบทปฐมนิเทศ มีข้อบังคับไว้ว่าต้องบอกอนุศาสน์แก่ภิกษุผู้บวชใหม่ จะไม่บอกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่พระบวชใหม่ต้องรู้เป็นเบื้องต้น  เพื่อมิให้ทำผิดพลาดด้วยไม่รู้มาก่อน อนุศาสน์มีเนื้อความกล่าวถึง นิสสัย (สิ่งที่พระภิกษุทำได้) และ อกรณียกิจ (สิ่งที่พระไม่ควรทำ) ดังนี้

        1. เที่ยวบิณฑบาต ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่มีอาชีพอื่น เช่น อาชีพทำนาทำไร่ ค้าขาย เป็นต้น แต่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขออาหารจากชาวบ้าน ความหมายของคำว่า ภิกษุ นัยหนึ่งแปลว่าผู้เห็นภายในวัฏสงสาร  อีกนัยหนึ่งแปลว่า ผู้ขอโดยกิริยามิใช่โดยการออกปาก การบิณฑบาตจึงเป็นการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์สำหรับภิกษุ  ตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนา 

        2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  ผ้าบังสุกุล  คือ ผ้าที่ภิกษุเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยซึ่งตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนผุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม  โดยที่สุดแม้ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ ตกอยู่ตามป่าช้า  ภิกษุเก็บมาเย็บปะต่อกันเป็นผืน ซัก เย็บ ย้อมใช้เป็นจีวรสำหรับนุ่งห่ม ปัจจุบันภิกษุใช้ผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวายได้

        3. อยู่โคนต้นไม้  ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธ ศาสนาต้องสละบ้านเรือน ออกบวชเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน  จึงต้องอาศัยอยู่ตามร่มไม้ ป่าเขา เงื้อมผา  เถื่อนถ้ำ  ภายหลังมีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวาย  ปัจจุบันจึงมีวัดวาอารามเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุ

        4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า   ธรรมดาสังขารร่างกายเต็มไป ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การจะไม่มีโรคนั้นเป็นไม่มี พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้พระภิกษุฉันสมอและมะขามป้อมดองด้วยน้ำปัสสาวะเป็นยาได้ตลอดเวลา   เพื่อจะได้เป็นผู้มีโรคน้อย  และมีกำลังในการบำเพ็ญกิจสงฆ์

 

ส่วนกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้  เรียกว่า อกรณียกิจ มี 4 ข้อ ดังนี้

        1. เสพเมถุน พระภิกษุมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที    

        2. ลักขโมย ภิกษุลักทรัพย์มีราคาตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

        3. ฆ่ามนุษย์  ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า   หรือทำอาวุธให้เขาด้วยเจตนาจะให้เขาฆ่าตัวตาย  หรือบังคับให้เขากินยาพิษ   หรือกล่าวพรรณนาคุณของความตายเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย   ทำคาถาอาคมฆ่าด้วยคุณไสย โดยที่สุดแม้การทำแท้งและแนะนำวิธีการฆ่าด้วยอุบายต่าง  ๆ  ขาดจากความเป็นพระภิกษุ

        4. พูดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี การพูดอวดคุณวิเศษ หมายถึง คุณวิเศษที่เกิดจาการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนาจนได้บรรลุคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฌาน  4  คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน  วิชชา 3  คือ  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้   จตูปปาตญาณ  ญาณกำหนดการเกิดการตายของสรรพสัตว์  และอาสวักขยญาณ  ญาณที่รู้การทำลายกิเลส เป็นต้น  ที่ตนเองไม่มี ไม่ได้บรรลุ  เพื่อต้องการให้คนอื่นนับถือศรัทธา  โดยหวังลาภสักการะชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออื่นใดก็ตาม  ขาดจากความเป็นภิกษุ

 

การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

        1. ควรเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะที่ง่ายแก่การหลั่งริน

        2. มือขวาใช้จับ มือซ้ายประคองหลั่งน้ำ

        3. เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาบท “ยะถา วาริวหา ปูรา” ให้เริ่มกรวดน้ำ

        4. น้ำที่กรวดควรให้ไหลติดต่อกันไม่ขาดสายไม่หลั่งน้ำลงบนฝ่ามือหรือใช้นิ้วรองน้ำ      

        5. ตั้งใจอุทิศส่วนบุญในใจไปจนจบหรือกล่าวคำอุทิศส่วนบุญว่า “อิทัง เม      ญาตินัง  โหตุ”  ขอบุญกุศลนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายของ     ข้าพเจ้าด้วยเถิด

        6. เมื่อพระสวดถึงตอนที่ว่า “มะณิ โชติระโส ยะถา” ควรหลั่งน้ำที่มีอยู่ให้หมดแล้วประนมมือรับพรจากพระ 

       การบอกอนุศาสน์  พระอุปัชฌาย์จะเป็นผู้บอกพระภิกษุใหม่ทันทีภายหลังจากบวชเสร็จสิ้นลงแล้ว เพื่อสอนให้รู้ถึงการดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ  และการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการเป็นพุทธบุตร อนุศาสน์ทั้ง 8 ข้อนี้ท่านจะสวดเป็นภาษาบาลี สวดจบแต่ละข้อให้พระภิกษุใหม่รับ "อามะ ภันเต"

 

กิจกรรมระหว่างอยู่ในโครงการ

 

ฝึกเสขิยวัตร (มารยาทของพระ)

     เช่น การฉันภัตตาหาร, การกราบ, การลุก การนั่ง ฯลฯ จะได้เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม และจะกลายเป็นมารยาทที่ดีติดตัวไป


นั่งสมาธิ

     ทำให้มีความสงบและความสุข ช่วยให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น ช่วยเพิ่มไอคิว (IQ) ความฉลาดทางปัญญา และอีคิว (EQ) ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนนรู้ การประกอบการงาน และการใชชีวิตในสังคม


ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ซึ่งจะช่วยเพิ่มเอ็มคิว (MQ) ความฉลาดทางจริยธรรม เพิ่มเติมคุณธรรม ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และนำคำสอนมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง


สวดมนต์ทำวัตรเช้า - เย็น

    ทำให้เกิดสิริมงคล ภัยอันตรายไม่มากล้ำกราย และทำให้ใจสงบเยือกเย็น


บิณฑบาต

    ยามเช้าได้ออกบิณฑบาตเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ญาติโยม


เดินธุดงค์

    ได้ฝึกความอดทน ฟื้นฟูศรัทธาของญาติโยม และพัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง

 

ค้นหา

ยอมรับเงื่อนไข ข้อมูลส่วนบุคคล