พิมพ์
รายละเอียด: | ฮิต: 9167

ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

๕. ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

 580522_03.JPG - 70.74 kb

      เมื่อตรัสอธิบายเรื่องคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายจบลงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงสติสัมปชัญญะแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า “มหาบพิตร อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ”

 ตรัสดังนี้แล้ว จึงได้ทรงวิสัชนาด้วยพระองค์เองว่า

      “มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแลในการเหลียวในการคู้เข้า ในการเหยียดออกในการทรงสังฆาฏิ บุตรและจีวร ในการฉันในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้มในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดินการยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่งมหาบพิตร ภิกษุ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล”๑  

 

      ตามรูปศัพท์ คำว่า “สติ” หมายถึง ความระลึกได้ นึกได้อาการที่จิตฉุกคิดขึ้นได้ เช่นฉุกคิดขึ้นได้ว่า ถึงเวลาสวดมนต์แล้วเป็นต้น ดังนั้น “สติ” จึงเป็นอาการจิตนึกขึ้นได้ ซึ่งตรงข้ามกับอาการเรียกว่า “เผลอ”หรือ“ลืม”

 

       ในพระพุทธศาสนา ถือว่า “สติ” เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก กล่าวคือ “สติ” ช่วยไม่ให้งานการเสียหายเพราะลืมทั้งนี้เพราะการงานบางอย่าง ถ้าลืมเสียย่อมจะเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เช่น หมอลืมให้ยาคนไข้คนไข้ก็อาจเสียชีวิตพระลืมลงสวดปาฏิโมกข์ก็ต้องอาบัติ เป็นต้น ดังนั้นสติจึงเป็นธรรมมีอุปการะมาก เพราะช่วยไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้หลงลืมในสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ ยิ่งกว่านั้นสติยังเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการเจริญภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานต่อไปอีกด้วย

 

คำว่า “สัมปชัญญะ” หมายถึง ความรู้สึกตัว หรืออาการรู้ตัวในขณะทำอยู่ เช่น รู้ว่าเรากำลังพูดอะไรกำลังคิดอะไรหรือ กำลังทำอะไร

      พระพุทธศาสนาถึงว่า “สัมปชัญญะ” เป็นธรรมที่มีอุปการะมากอีกข้อหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้คู่กับ “สติ” เรียกว่า“สติสัมปชัญญะ”โดยถือว่า “สติ” เกิดก่อนทำ พูด และคิด ส่วน“สัมปชัญญะ” เกิดในขณะกำลังทำ พูด และ คิด แต่ธรรมทั้งสองนี้จะเกิดควบคู่กันเสมอ

 

ใน คัมภีร์อรรถกถา ปาฏิกวรรค ได้แบ่งสัมปชัญญะออกเป็น ๔ ประการ คือ

๑. สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นมีประโยชน์หรือไม่

๒. สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นที่สบายหรือเหมาะสมกับตนหรือไม่

๓. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นกิจที่ควรทำหรือไม่

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความหลงเข้าใจผิด หรืองมงายหรือไม่

 

       การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ”  ย่อมหมายความว่า ทุกอิริยาบถที่พระภิกษุกระทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยืน การเดิน การนอนการพูด การนิ่งไม่พูด หรือการกระทำใด ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวนี้ พระภิกษุ จะกระทำด้วยความรู้สึกตัวเสมอ ไม่มีการลืมหรือ เผลอสติ

 

       สติสัมปชัญญะนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับทุก ๆ คน ผู้ที่ย่อหย่อนในธรรม ๒ ประการนี้ นอกจากตนเองจะประสบความล้มเหลว ขาดความยกย่องนับถือจากผู้อื่นแล้ว ยังทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของสังคมส่วนรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสถาบันศาสนาทีเดียว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของฆราวาสโดยทั่วไป

 

      พระภิกษุย่อหย่อนในธรรมทั้ง ๒ ประการ คือ สติและสัมปชัญญะย่อมไม่สามารถสำรวมอินทรีย์ได้ ไม่สามารถมีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีลได้ หรือไม่สามารถสำรวมระวังในเรื่องโคจรและอโคจรได้ ซึ่งนอกจากเป็นทางก่อให้เกิดอภิชฌาและโทมนัสแก่ตัวพระภิกษุเองโดยตรงแล้ว พฤติกรรมของพระภิกษุที่ปรากฏต่อสาธารณชนย่อมทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วย

 

      ภัยอันเกิดจากการเผลอสตินั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน ทั้งต่อตัวเอง และต่อบุคคลอื่นด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสยืนยันว่า ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระองค์จำเป็นต้องประกอบด้วย  “สติสัมปชัญญะ”

 

 

 

 ๑ สามัญญผลสูตร ที. สี  ๙/๑๒๓/๙๔