พิมพ์
รายละเอียด: | ฮิต: 3124
ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

อาบัติและโทษ

อาบัติและโทษ

         อาบัติ แปลว่า การต้อง, ความต้อง หมายถึง การต้องโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ หรือหมายถึง โทษที่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทที่มีบัญญัติห้ามไว้จะต้องได้รับกิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบทเช่นนั้น บางทีก็เรียกว่า ต้องอาบัติ เช่น ต้องสังฆาทิเสส ต้องปาจิตตีย์ เมื่อต้องอาบัติแล้วย่อมได้รับโทษ ซึ่งโทษเพราะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นจำแนกเป็น ๓ ระดับคือ

         ๑. โทษสถานหนัก อันเป็นครุโทษหรือมหันตโทษ จัดเป็น ครุกาบัติ ทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่อาบัติปาราชิก

         ๒. โทษสถานกลาง อันเป็นมัชฌิมโทษ จัดเป็น ครุกาบัติทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ ได้แก่อาบัติสังฆาทิเสส

         ๓. โทษสถานเบา อันเป็นลหุโทษ จัดเป็น ลหุกาบัติทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดต้องปลงอาบัติคือบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิตโทษอีกอย่างหนึ่งของอาบัติมี ๒ สถาน คือ

         ๑. อเตกิจฉา อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ได้แก่ อาบัติปาราชิก คือเมื่อล่วงละเมิดแล้ว ผู้ล่วงละเมิดย่อมขาดจากความเป็นภิกษุแก้ไขอะไรไม่ได้

         ๒. สเตกิจฉา อาบัติที่แก้ไขได้คือเมื่อล่วงละเมิดแล้วสามารถแก้ไข ให้มีความบริสุทธิ์กลับคืนได้ ได้แก่อาบัติสังฆาทิเสส แก้ไขได้ด้วยการอยู่กรรม ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิตแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติ

โทษอีกอย่างหนึ่งของอาบัติมี ๒ สถาน คือ

         ๑. โลกวัชชะ โทษทางโลก คือความผิดที่เมื่อล่วงละเมิดสิกขาบทแล้วชาวบ้านไม่ชอบ ตำหนิติติง หรือโพนทะนาว่าร้ายว่าทำไม่เหมาะไม่ควร เห็นเป็นการกระทำที่ผิดเช่น การดื่มสุราการขบฉันอาหารในเวลาวิกาลการนุ่งห่มไม่เป็นปริมณฑลเป็นต้น หรือเมื่อล่วงละเมิดแล้วมีโทษทางกฎหมายบ้านเมือง เช่น การทำโจรกรรม การทุบตีกัน เป็นต้น

         ๒. ปัณณัตติวัชชะ โทษทางพระวินัยคือความผิดที่ไปล่วงละเมิดข้อห้ามตามที่บัญญัติเป็นสิกขาบทเข้าไว้เป็นการไม่สมควร ไม่เหมาะสำหรับผู้เป็นนักบวชเช่น การขุดดิน การขบฉันอาหารในเวลาวิกาลการว่ายน้ำเล่น เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดสำหรับคฤหัสถ์แต่เป็นความผิดเฉพาะผู้เป็นภิกษุเท่านั้น

         ในโทษ ๒ สถานนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงให้คำแนะนำไว้โดยสรุปว่า

         ๑. อาบัติที่เป็นโลกวัชชะนั้น ล่วงเข้าแล้วยังความเสียหายให้เกิดมากแม้ทำคืน (ปลงอาบัติ) แล้วความเสียหายนั้นก็เป็นเหมือนแผลที่ติดอยู่ ไม่หายได้ง่าย ควรประหยัดให้มาก อย่าล่วงง่ายๆ

         ๒. อาบัติที่เป็นปัณณัตติวัชชะนั้น เหล่าใดที่ภิกษุยังถือเป็นกวดขันล่วงอาบัติเหล่านั้นเข้าแล้ว มีความเสียหายได้เหมือนกัน เหล่าใดไม่ถือเป็นจริงจัง เพราะกาลสมัยและประเทศนำให้เป็น อาบัติเหล่านั้นแม้ล่วงเข้าแล้วก็ไม่สู้เป็นอะไรนัก

         ๓. ในฝ่ายเคร่ง (วินัย) ไม่ควรจะถือเอาบัติเหล่านั้นเป็นเครื่องมือสำหรับอวดเคร่ง

         ๔. ในฝ่ายที่ไม่เคร่ง เห็นว่าอาบัติมาก หลบไม่ไหวแล้ว ทอดธุระเสียไม่รู้จักเว้น ก็สะเพร่าเกินไป

         ๕. ควรรู้จักประพฤติแต่พอดีจึงจะสมแก่ศาสนธรรมที่ว่าปฏิบัติพอกลางๆ ไม่หย่อนเกินไปและไม่ตึงจนเกินไป

 

อาการต้องอาบัติ

         การต้องอาบัติหรือการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติของภิกษุนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยอาการต่างๆ ท่านแสดงอาการนั้นๆ ไว้รวมเป็น ๖ ประการ คือ

         ๑. อลชฺชิตา ต้องด้วยไม่ละอาย

         คืออาการที่ภิกษุรู้อยู่ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ มีพระวินัยบัญญัติห้ามไว้ แล้วแต่ก็ยังขืนดื้อดึงทำไปโดยไม่สนใจความผิดเช่น พูดปดดื่มสุรา ไม่สำรวม
ระวัง เป็นต้น


         ๒. อญาณตา ต้องด้วยความไม่รู้

         คือ อาการที่ภิกษุผู้บวชใหม่หรือผู้บวชมานานแต่เป็นคนเขลา หรือผู้ไม่ได้สนใจที่จะรู้จึงไม่รู้พระวินัยบัญญัติว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ทำไม่ได้จึงไปล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆเข้าด้วยความไม่รู้เช่น นอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน ๓ คืน


         ๓. กุกฺกุจฺจปกตตฺตา ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลงไป

         คือ อาการที่ภิกษุต้องการดื่มน้ำ เกิดความสงสัยขึ้นมาขณะนั้น ว่าน้ำมีตัวสัตว์หรือไม่แต่ก็ยังดื่มน้ำนั้นทั้งที่สงสัย หรือสงสัยว่าการทำอย่างนี้จะผิดพระวินัยหรือไม่ พระวินัยบัญญัติห้ามไว้หรือไม่ แต่ก็ทำลงไปทั้งที่สงสัยการทำอย่างนั้น หากเป็นการทำที่มีพระวินัยห้ามไว้ก็ต้องอาบัติตามวัตถุ ถ้าไม่มี ก็ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะสงสัยแล้วขืนทำลงไป


         ๔. อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺิตา ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร

         คืออาการที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อหมีซึ่งเป็นเนื้อต้องห้ามตามพระวินัย แต่สำคัญไปว่าเป็นเนื้อหมูจึงขบฉันเข้าไปตามที่เข้าใจแต่ก็ต้องอาบัติเพราะเป็นเนื้อต้องห้าม

         
         ๕. กปฺปิเย อกปฺปิยสญฺิตา ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร

         คือ อาการที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อหมูซึ่งเป็นเนื้อที่บริโภคได้แต่เข้าใจไปว่าเป็นเนื้อหมีซึ่งเป็นเนื้อต้องห้าม แล้วฉันเนื้อหมูนั้น ก็ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะสำคัญว่าไม่ควรแล้วยังฉัน

         
         ๖. สติสมฺโมสา ต้องด้วยลืมสติ

         คือ อาการที่ภิกษุลืมสติแล้วล่วงละเมิดสิกขาบท ด้วยหลงไปหรือเผลอไป เช่น น้ำผึ้ง ทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน แต่ภิกษุเก็บไว้เกินกำหนด ๗ วันแล้วนำมาฉัน หรือเผลอเก็บอติเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วัน โดยไม่ได้วิกัปหรืออธิษฐาน

 

วิธีปฏิบัติเมื่อต้องอาบัติ

         การต้องอาบัติเป็นการทำผิดประพฤติผิด เป็นการล่วงละเมิดบทบัญญัติทางพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้เพราะสิกขาบทแต่ละข้อนั้นทรงบัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับหมู่คณะ เพื่อความถูกต้อง เพื่อความสง่างาม เพื่อให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสแก่ชาวโลก เพื่อรักษาพระศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไป เป็นต้น เมื่อมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น ย่อมทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง ไม่สง่างาม ทำให้เสียศรัทธาของชาวโลก และเป็นเหตุอันตรธานเสื่อมสูญไปของพระศาสนา

         เพราะฉะนั้น เมื่อมีการต้องอาบัติเกิดขึ้นในหมู่คณะ ย่อมเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติร่วมกัน วิธีปฏิบัตินั้น ท่านแสดงไว้ในหลายที่หลายแห่งแต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วย่อมเกี่ยวข้องกับบุคคล ๓ ฝ่าย คือ

         ๑. หน้าที่ของภิกษุผู้ต้องอาบัติ

         ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น จำต้องยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยความมีสติมีความละอายแก่ใจ แล้วทำคืนอาบัตินั้นๆ ตามวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัยเช่น อยู่กรรม ปลงอาบัติก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เหมือนเดิม แล้วสำรวมระวังมิให้เกิดความผิดพลาดโดยไปล่วงละเมิดอีก


         ๒. หน้าที่ของภิกษุอื่นที่รู้เห็น

         ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในหมู่คณะเดียวกัน เมื่อเห็นว่าภิกษุใดประพฤติปฏิบัติผิด ไม่เหมาะไม่ควร ก็จำต้องตั้งสติทำใจ อาศัยเมตตาธรรมเป็นที่ตั้งแนะนำ ตักเตือน หรือสั่งสอนเธอผู้ทำผิด ให้เลิกกระทำหรือให้มีสติให้ความรู้เพื่อเธอจะได้กลับตัวเลิกประพฤติมิใช่ปล่อยวางเฉย ให้ทำไปตามใจชอบ แม้จะทำ ให้เสียความสง่างาม เสียความรู้สึกในหมู่คณะ เพราะถ้าวางธุระเสียก็จะเกิดความเสียหายบานปลายจนทำให้หมู่คณะเดือดร้อนเสียหายตามได้หากเอาเป็นธุระ ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือกัน ได้ช่วยหมู่คณะ หรือได้ช่วยวัดช่วยพระศาสนาให้วัฒนาสถาพรต่อไป


         ๓. หน้าที่ของสงฆ์

         สงฆ์คือหมู่คณะที่ปกครองดูแลกันเป็นระบบ มีผู้นำ มีเจ้าคณะผู้ปกครองที่เรียกว่าพระสังฆาธิการทุกระดับ สงฆ์ที่สำคัญก็คือผู้ปกครองทุกระดับชั้น จำต้องเห็นแก่พระศาสนาเป็นที่ตั้งจำต้องกวดขันดูแลภิกษุในปกครองให้ปฏิบัติไปตามพระธรรมวินัย เมื่อภิกษุประพฤติผิดก็จำต้องปฏิบัติแก้ไขหรือลงโทษไปตามพระธรรมวินัย จำต้องเอาใจใส่เรื่องกฎระเบียบที่วางไว้หากยังไม่มีก็รับฟังความคิดเห็นของหมู่คณะแล้วตรากฎระเบียบออกมาบังคับใช้ร่วมกัน สงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับชั้นจำต้องอาศัยจิตสำนึกในความเป็นผู้ปกครองอย่างเข้มงวด ทำได้ดังนี้ก็จะรักษาพระศาสนาเข้าไว้ได้หมู่คณะก็จะงดงามเป็นศรีสง่า เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของชาวโลกได้