พิมพ์
รายละเอียด: | ฮิต: 16534

ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

๒. มีอาชีพบริสุทธิ์

 580522_05.JPG - 55.69 kb

      การมีอาชีพบริสุทธิ์ของพระภิกษุนั้น มีคำศัพท์โดยเฉพาะว่า “อาชีวปาริสุทธิศีล” ศัพท์เฉพาะคำนี้แยกพิจารณาได้ ๓ คำ คือ

คำที่ ๑ “อาชีว” คือ อาชีพ หมายถึง พฤติการณ์ที่คนเราได้อาศัยเลี้ยงชีวิต

คำที่ ๒ “ปาริสุทธิ” คือ บริสุทธิ์ หมายถึง ความสะอาดหมดจดจากกิเลสอันชั่วช้า ปราศจากการประพฤติทุศีล

คำที่ ๓ “ศีล” คือ ภาวะปรกติ ดังนั้น “อาชีวปาริสุทธิศีล” จึงหมายถึง “ภาวะปรกติในการเลี้ยงชีวิตอย่างสะอาดหมดจด ปราศจากการประพฤติทุศีล”

 

      เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุปุระกอบอาชีพใดๆ แบบฆราวาส พระภิกษุจึงต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัย ๔ คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และคิลานฌสัช(ยาบำบัดโรค) ซึ่งได้รับมาจากทายกทายิกา

      พระภิกษุเลี้ยงชีวิตอย่างสะอาดหมดจด ปราศจากการประพฤติทุศีล ย่อมพอใจปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ จัดว่าเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ในทำนองกลับกันพระภิกษุที่มุ่งแสวงหาปัจจัย ๔ มาปรนเปรอตนเองด้วยกลวิธีทุศีลต่าง ๆ จัดว่าประพฤติมิจฉาอาชีวะ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์

 

ลักษณะอาชีพไม่บริสุทธิ์

      เพื่อให้เข้าใจอาชีวปาริสุทธิศีลชัดเจน จึงควรกล่าวถึงลักษณะอาชีพไม่บริสุทธิ์ของพระภิกษุเสียก่อน ลักษณะที่ถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะหรืออาชีววิบัติของพระภิกษุนั้น อยู่ที่การแสวงหามาด้วยการล่อหลอก และการละเมิดสิกขาบท ซึ่งมีผลให้สิ่งของที่ได้รับมาไม่บริสุทธิ์ เป็นของไม่ควรบริโภค

      การแสวงหาด้วยการล่อหลอกนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงรายละเอียดไว้มากมาย พระอรรถกถาจารย์ ได้แบ่งเป็นหัวข้อไว้ดังนี้ ๑

๑) กุหนา (อ่านว่า กุ-หะ-นา) หมายถึง การหลอกลวง มีอุทาหรณ์แสดงไว้ ๓ พวก คือ

 

      พวกแรก พระภิกษุเสแสร้งแสดงให้ทายกเข้าใจว่า ตนเป็นผู้สันโดษมักน้อย ไม่ปรารถนาจะรับสิ่งของใด ๆ เพื่อทำให้ทายกนึกนิยมสรรเสริญตนและคิดว่า ถ้าจะหาเครื่องไทยธรรมมาถวายพระภิกษุรูปนี้ก็จะได้บุญมาก ครั้นเมื่อทายกนำสิ่งของมาถวาย ก็จะเสแสร้งกล่าวว่า ความจริงตนไม่ปรารถนาจะรับสิ่งเหล่านั้นเลย แต่เพื่อจะอนุเคราะห์ทายกนั้น ตนก็ยินดีจะรับ การแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ก็เพื่อลวงให้ทายกรู้สึกนิยมชมชอบตน แล้วชักชวนกันหาสิ่งของดี ๆ มาถวายอีกเพราะคิดว่าคงจะได้บุญมาก

      พวกที่สอง ชอบพูดเป็นเลศนัย โดยมีเจตนาที่จะทำให้หลงเข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุณานขั้นสูงหรือเป็นพระอริยบุคคลบรรลุโลกุตตรธรรม โดยการกล่าวถึงบุคลิกลักษณะของสมณะที่บรรลุโลกุตตรธรรมบ้าง กล่าวถึงคุณวิเศษของสมณะบางรูปที่ตนรู้จักคุ้นเคยบ้าง การกล่าวถึงเรื่องราวในทำนองนี้บ่อย ๆ ก็จะทำให้มหาชนหลงเข้าใจว่าพระภิกษุรูปนั้นบรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยบุคคลแล้ว จึงชักชวนกันมาถวายบิณฑบาต เสนาสนะและปัจจัยต่าง ๆ มากมาย

      พวกที่สาม ชอบแสร้งทำตนให้ทายกเลื่อมใส ด้วยอิริยาบถที่แสดงว่าตนเป็นพระภิกษุเคร่งในพระธรรมวินัยทายกจึงพากันน้อมนำสักการะมาถวายมากมาย

 

๒) ลปนา  หมายถึง พูดพิรี้พิไร  ได้แก่ การพูดประจบเลียบเคียงต่างๆนานา โดยมีเจตนาจะได้ปัจจัยไทยธรรมจากทายก พระอรรถกถาจารย์ได้ยกอุทาหรณ์ไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่าเมื่อพระภิกษุเห็นทายกเข้ามาสู่วิหาร ก็รีบชิงทักถามขึ้นก่อนว่าทายกต้องการนิมนต์ภิกษุหรือ ถ้ามีความประสงคฺเช่นนั้น อาตมาก็จะเป็นธุระกาภิกษุตามไปทีหลัง

      อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อทายกมาสู่วิหาร แล้วสนทนาซักถามด้วยเรื่องต่างๆ พระภิกษุก็พยายามประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของตนเองว่า มีพระราชาหรือข้าราชบริพารระดับสูง ชื่อนั้นชื่อนี้มีความเลื่อมใสตน หรือพูดยกตนเองว่า มีสกุลใดสกุลหนึ่งที่มีอันจะกิน คอยถวายลาภสักการะให้ตนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เคยถวายลาภสักการะพระภิกษุรูปอื่นเลย

      พระภิกษุบางรูปก็พยายามทำตนให้เป็นที่รักของเหล่าทานบดี โดยการประพฤติถ่อมตัวทั้งทางกาย และทางวาจา หรือบางรูปก็อาจจะแสดงการประจบทานบดี โดยการเข้าไปอุ้มทารก ซึ่งประหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงหรือแม่ของทารกนั้น

      พระภิกษุบางรูปก็พยายามพูดเอาอกเอาใจยกยอคฤหบดีต่าง ๆ นานา ด้วยเกรงว่าคฤหบดีที่น้อมนำลาภสักการะมาสู่ตนนั้นจะเหินห่างไปเสีย พระภิกษุบางรูปก็พยายามพูดเกี้ยวทานบดีให้ถวายทานใหม่อีก โดยการพูดสรรเสริญการถวายทานของเขาในครั้งก่อน (ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกล่าวยกใจ เพื่อให้ทายกทายิกาได้ระลึกถึงบุญ  และมีใจปีติเบิกบานในบุญกุศล)

      พระภิกษุบางรูป เมื่อเห็นอุบาสกถืออ้อย (หรือของขบฉันอื่น ๆ) มาก็แสร้งพูดว่า อ้อยนั้นคงจะอร่อยกระมังครั้นเมื่ออุบาสกตอบว่า ต้องลองฉันดูจึงจะรู้ พระภิกษุ จึงพูดใหม่ว่า ถ้าตนจะบอกให้อุบาสกถวายอ้อยให้ก็จะไม่เหมาะไม่ใช่หรือ ครั้นแล้วอุบาสกก็อาจจะถวายอ้อยให้ เพราะเข้าใจว่าพระภิกษุรูปนั้นอยากฉันอ้อย  การพูดเช่นนี้ของพระภิกษุจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ล้วนจัดเป็นเรื่องของการพูดพิรี้พิไรทั้งสิ้น

       จะเห็นว่าพฤติกรรมของพระภิกษุจัดเป็น “ลปนา” คือพูดพิรี้พิไรนั้นมีตั้งแต่การพูดจาตีสนิทหรือดักคอทานบดีการพูดประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของตนกับทานบดี การพูดเอาอกเอาใจ พูดเกี้ยว พูดยกตนหรือพูดถ่อมตนกับทานบดี จนถึงประพฤติถ่อมตนเข้าไปรับใช้ทานบดี เจตนาของพระภิกษุเหล่านี้มีอยู่เหมือนๆ กัน คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ

 

๓) เนมิตติกตา หมายถึง พูดหว่านล้อม ได้แก่ การกระทำหรือการพูดอ้อมค้อม เพื่อล่อใจให้ทายกถวายของ เพราะจะขอกันตรง ๆ ก็รู้สึกเก้อเขิน และเป็นอาบัติ พระภิกษุจึงแสดงนิมิตคือ พฤติกรรมให้ทายกรู้ ด้วยการพูดเป็นนัยว่าตนต้องการอะไรหรืออยากฉันอะไร แม้ทายกจะรู้เท่าทัน แกล้งปฏิเสธหรือหลบหน้าไปเสีย พระภิกษุก็ยังไม่พ้นความพยายาม ในที่สุดทายก็อดในที่นี้ไม่ได้ ก็จำใจถวายสิ่งของนั้น ๆ ให้

 

๔) นิปเปสิกตา หมายถึง พูดท้าทายถากถางให้เจ็บใจหรือพูดเป็นเชิงบีบบังคับ เป็นคำพูดที่ฉลาดของพระภิกษุ เพื่อปรามาสหรือหมิ่นน้ำใจทายก โดยมีเจตนาให้ทายกถวายลาภสักการะแก่ตน เช่น กล่าวว่าสกุลนี้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสในการทำทาน ทายกทนฟังไม่ได้ก็ถวายสิ่งของให้โดยไม่เต็มใจหรือเมื่อไปบ้านหนึ่งก็พูดจาไพเราะกับเขา ครั้นไปอีกบ้านหนึ่งก็เอาไปนินทาให้คนในบ้านใหม่ฟัง พร้อมทั้งพูดจายกย่องผู้ที่กำลังฟังอยู่ด้วย แม้ผู้ฟังจะรู้สึกไม่พอใจ ก็จำต้องถวายลาภสักการะให้ เพราะไม่อยากถูกนินทาหรือเพราะรำคาญก็เป็นได้

      นิปเปสิกตานี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าหมายถึง การด่าด้วยวัตถุสำหรับด่า ๑๐ อย่าง คอยพูดข่ม พูดใส่ร้าย พูดขับเขา พูดไล่เขา พูดหยันเขา พูดเย้ยเขา พูดเหยียดเขา พูดหยามเขาพูดโพนทะนา และต่อหน้าพูดหวาน ลับหลังตั้งนินทา

 

๕) นิชิคึสนตา หมายถึง การแสวงหากำไร เป็นการต่อลาภด้วยลาภของพระภิกษุบางรูป เช่น พระภิกษุได้รับสิ่งของจากทายกผู้หนึ่ง ตนรู้สึกว่ายังไม่พอใจนัก จึงนำสิ่งของนั้นไปให้ผู้อื่น โดยหวังว่าตนจะได้รับของสิ่งใหม่ซึ่งดีกว่าของเดิมเป็นการทดแทน ครั้นเมื่อได้ของสิ่งใหม่มา ก็นำไปให้ผู้อื่นอีกเพื่อแลกกับของสิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือแพงกว่า ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะได้ของที่ตนพอใจที่สุด

 

     วิธีการหาเลี้ยงชีวิตด้วยเล่ห์เพทุบายของพระภิกษุ ดังได้กล่าวมาทั้ง ๕ ประการนี้ ซึ่งอาจมีรายละเอียดพิสดารมากกว่าอุทาหรณ์ที่ยกมา ล้วนถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะของพระภิกษุทั้งสิ้น พระภิกษุรูปใดที่หาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการเหล่านี้ แม้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งก็จัดว่า มีอาชีพไม่บริสุทธิ์

     นอกจากการเลี้ยงชีพด้วยการล่อหลอกทั้ง ๕ ประการดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องการเลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชาอันเป็นการละเมิดสิกขาบท ช่วงจะได้กล่าวในหัวข้อ “ถึงพร้อมด้วยศีล”

 

ชื่ออาบัติเกี่ยวกับอาชีพไม่บริสุทธิ์

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับเรื่องมิจฉาอาชีวะไว้ ๖ข้อ พร้อมทั้งระบุชื่ออาบัติเพราะละเมิดสิกขาบทเหล่านั้นไว้ ดังนี้

๑) พระภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาราชิก

๒) พระภิกษุชักสื่อให้ชายหญิง เป็นผัว เมียกัน เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๓) พระภิกษุ พูดเป็นเลศนัยกับทายกทายิกาผู้สร้างกุฏิถวายว่า พระภิกษุผู้อยู่ในวิหารของทายกทายิกานั้นเป็นพระอรหันต์ การที่กล่าวยืนยันเช่นนั้น เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติถุลลัจจัย

๔) พระภิกษุมิได้อาพาธ ขออาหารอันประณีตมาฉันเอง เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๕) ภิกษุณีที่มิได้อาพาธ ขออาหารอันประณีตมาฉันเอง เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

๖) พระภิกษุโดยทั่วไปเอ่ยปากขออาหารจากทายกทายิกามาฉันเอง ต้องอาบัติทุกกฎ 

     การขอดังกล่าวแล้วนี้จะเห็นว่า แม้พระภิกษุยังมิได้บริโภคก็เป็นอาบัติ คือ การละเมิดปาฏิโมกขสังวรศีลหากบริโภคแล้วย่อมเป็นการละเมิดอาชีวปาริสุทธิศีล

      ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติ เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุประพฤติมิจฉาอาชีวะถ้าพระภิกษุสามารถปฏิบัติตนตามได้อย่างเคร่งครัด ก็ย่อมจะมีการบริโภคที่บริสุทธิ์สะอาด และมีอาจาระที่น่ายกย่องบูชาเป็นอย่างยิ่ง 

 

ลักษณะอาชีพที่บริสุทธิ์

     พระภิกษุที่งดเว้นจากมิจฉาอาชีวะทุกประการดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีอาชีวปาริสุทธิศีล หรือมีอาชีพบริสุทธิ์หรือมีกาย วาจาบริสุทธิ์ การที่พระภิกษุจะะบำเพ็ญอาชีวปาริสุทธิศีลได้เต็มที่นั้น ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเองเป็นสำคัญ หากความเพียรย่อหย่อนเสียแล้ว พระภิกษุก็จะหันไปแสวงหาปัจจัยในทางไม่สมควร ความเพียรเท่านั้นที่เอื้ออำนวยให้ปัจจัยอันบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่พระภิกษุ 

 

     ปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์นั้นมีอยู่เหลายทาง เช่น ปัจจัยที่ฆราวาสถวายเพราะมีความเลื่อมใสศรัทธาในคุณของพระภิกษุ เช่น ศรัทธาในการแสดงธรรม เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยที่เกิดขึ้นจากการบิณฑบาตก็ถือว่าบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ส่วนพระภิกษุผู้รักษาธุดงค์นั้น ปัจจัยอาจเกิดขึ้นจากการเที่ยวบิณฑบาต หรือเกิดจากผู้เลื่อมใสศรัทธาในธุดงค์คุณของพระภิกษุนั้นนำมาถวายก็ได้

 

 

๑  พระวิสุทธิมัคค์ เผดจ เล่ม ๑ หน้า ๖๔